ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Medical Tourism ส่งผลกระทบต่อระบบการรักษาสุขภาพของภาครัฐ และภาคเอกชน อย่างไรบ้าง?


เป็นที่มองเห็นกันว่า เอเชียเป็นศูนย์กลางของบริการเกี่ยวกับสุขภาพ ที่เจริญขยายตัวของโลก และเป็นภูมิภาคที่มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น

แต่ผู้สื่อข่าววอยซ ออฟ อเมริกา รอน คอร์เบ้นรายงานจากกรุงเทพมหานครว่า มีการวิตกกังวลกันว่าเรื่องที่เรียกกันว่า medical tourism หรือการเดินทางเชิงท่องเที่ยว และการบำบัดรักษาตัวนี้ทำให้ระบบการดูแลรักษาสุขภาพภาคเอกชน หรือของภาครัฐขาดทรัพยากรที่สำคัญ และจำเป็นไป

เวลาส่วนใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาด medical tourismในประเทศไทยขยายตัวออกไปเนื่องจากชาวต่างประเทศ มาแสวงหาบริการดูแลรักษาสุขภาพ ที่เสียค่าใช้จ่ายถูกลง และพร้อมที่จะให้บริการดูแลบำบัดรักษา บริการที่ว่านี้มีตั้งแต่การผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเรื่อยไปจนถึงศัลยกรรมตกแต่ง หรือแม้แต่การดูแลรักษาตามแบบแพทย์แผนโบราณอย่างเช่น ยาจีน โยคะและการบำบัดรักษาทางอายุรเวท เมื่อปีพุทธศักราช 2550 มีผู้เดินทางมาให้แพทย์รักษาที่ประเทศไทยอาจถึงหนึ่งล้านสี่แสนคน ซึ่งมากกว่าของปีพุทธศักราช 2544 ห้าแสนคน

ประเทศไทยมีรายได้จาก medical tourism หนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ เมี่อปีพุทธศักราช 2550 ทางกระทรวงสาธารณะสุขไทยคาดหมายว่า ภายในปีพุทธศักราช 2555 รายได้จากmedical tourism จะเพิ่มขึ้นอีกสามเท่าตัว และจะมีชาวต่างชาติมาให้แพทย์ในประเทศไทย ดูแลรักษาเป็นจำนวนสองล้านกว่าคน

คุณเคนเนธ เมยส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดระหว่างประเทศ ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์แนชเชินเนิ้ลที่กรุงเทพมหานครกล่าวว่า การแพทย์ และบริการไม่ว่าจะที่โรงพยาบาลของรัฐหรือของเอกชนในประเทศไทยล้วนแต่มีคุณภาพ อนึ่งประเทศไทยตั้งใจให้บริการแก่ผู้ที่มารับการรักษาอย่างดี เพราะผู้มารับการรักษาพยาบาลส่วนมาก จ่ายค่ารักษาค่ายาเอง ชาวอเมริกันจะมาที่ประเทศไทยเพราะค่าดูแลรักษาโรคอย่างเดียวกันที่เมืองไทย ถูกกว่าที่อเมริกา 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์

แต่ทว่าประเทศไทย กำลังเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้นเนื่องจากสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ต่างก็กำลังส่งเสริม medical tourismกันทั้งนั้น

คุณรูเบน โตราล หัวหน้าฝ่ายบริหารของบริษัทที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมสุขภาพ เมดีไก๊ด กล่าวชมว่าขณะนี้ medical tourismในประเทศไทยและมาเลเซีย มีคุณภาพดีและบริการก็ยอดเยี่ยม เขาคิดว่า medicaltourismน่าจะขยายตัวต่อไป

คุณรูเบน โตราลกล่าวไวตอนนี้ว่า “เอเชียจะเป็นเจ้ายุทธจักรในวงการmedical tourism ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ลำพังประชากรของอินเดีย และจีนรวมกันนั้นมีจำนวนเท่ากับร้อยละ 66 ของประชากรในเอเชีย และนี่เป็นภูมิภาคที่ตลาดสำหรับชนชั้นกลางกำลังใหญ่โตขึ้น “เขากล่าวด้วยว่าผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยจากอเมริกาเหนือ ยุโรป ออสเตรเลียและญี่ปุ่นก็กำลังมองหาที่ๆ พวกเขาสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำด้วย

แต่ทว่ามีผู้วิจารณ์กันว่า สถานดูแลรักษาสุขภาพของรัฐ กำลังตึงตัว และเกรงว่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์จะทิ้งสถานดูแลสุขภาพของรัฐ ไปทำงานตามสถานดูแลสุขภาพของเอกชนแทน

คุณวิโรจน์ ณ ระนอง นักเศรษฐศาสตร์ ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวไว้ตอนนี้ว่า “ เมื่อเปรียบเทียบอำนาจการซื้อกันแล้ว จะเห็นว่าอำนาจการซื้อของชาวต่างชาติ ย่อมมากกว่าของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในประเทศไทย นี่เป็นประเด็นขั้นมูลฐานของเรื่องที่ว่า ถ้ามีชาวต่างชาติที่เจ็บป่วยหลั่งไหลมา ภาคเอกชนย่อมเป็นที่ๆ ดึงดูดแพทย์ไปทำงาน”

คณะกรรมการสุขภาพของไทยรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ทิ้งงานตามโรงพยาบาลของรัฐไปทำงานดูแลรักษาสุขภาพ ตามโรงพยาบาลของเอกชนหลายสิบคนแล้ว

สถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์รายงานว่า medical tourismทำให้ตามสถานพยาบาลของรัฐยิ่งขาดแคลนแพทย์ ทันตแพทย์และพยาบาลหนักขึ้น

แต่คุณเคนเนธ เมยส์แห่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์แนชเชินเนิ้ล ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้นทั้งนี้เพราะว่าผู้ที่ไปหาแพทย์ และผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นคนไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้ง medical tourism ยังสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยมากทีเดียว และทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะได้เปรียบประเทศอื่นๆ มากทีเดียว เขากล่าวด้วยว่าสถานดูแลรักษาสุขภาพของเอกชน ขยายวงออกไปและการจำกัดจำนวนแพทย์ต่างชาติ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทยนั้นช่วยหยุดยั้งสภาพสมองไหลออกไปได้ ชาวไทยผู้ทำงานด้านการแพทย์ อยู่ในต่างประเทศกำลังพากันกลับมาประเทศไทย

ส่วนผู้ประกอบอาชีพทางการแพทย์อื่นๆ กล่าวว่าแพทย์ และพยาบาลจำนวนมากทำงานไม่เต็มเวลาที่โรงพยาบาลเอกชน และยังทำงานที่โรงพยาบาลของรัฐด้วย

นักวิเคราะห์ของอุตสาหกรรมการแพทย์หลายคนคิดว่า เศรษฐกิจที่กำลังเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ และการเพิ่มการลงทุนด้านบริการเกี่ยวกับสุขภาพ จะทำให้เอเชียสนองความต้องการให้กับคนในเอเชียเองและชาวต่างชาติ ผู้ต้องการการดูแลรักษาแบบที่พอจะมีเงินมาจ่ายให้นั้นได้


XS
SM
MD
LG