ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักดาราศาสตร์นานาชาติ พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ 4 ดวง อยู่ในระบบสุริยะ 2 ระบบ


คณะนักดาราศาสตร์นานาชาติ ตรวจพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ 4 ดวงที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ห่างไกล 2 ดวงที่คล้ายดวงอาทิตย์ของเรามาก การค้นพบนี้ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะพบโลกที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในระบบสุริยะอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

ดาวเคราะห์ใหม่ 4 ดวงที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบนั้น อยู่ในระบบสุริยะ 2 ระบบ โดยที่ 3 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ ที่อยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราราว 28 ปีแสง ซึ่งนับว่าค่อนข้างใกล้ นักวิทยาศาสตร์เรียกดาวฤกษ์ดวงนี้ว่า "61 Virginis" ดาวเคราะห์ทั้งสามมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าโลก ดวงหนึ่งมีมวลมากกว่าโลกเรา 5 เท่า นอกจากนั้น ยังพบดาวเคราะห์คล้ายโลกขนาดใหญ่อีกดวงหนึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า "HD1461" ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 76 ปีแสง ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลมากกว่าโลก 7 เท่าครึ่ง แต่ยังเล็กกว่าดาวเคราะห์ขนาดใหญ๋ในระบบสุริยะของเรา อย่าง ดาวพฤหัส หรือ ดาวเสาร์มาก นักดาราศาสตร์กล่าวว่า อาจมีดาวเคราะห์อีก 2 ดวงในระบบสุริยะ "HD1461" ซึ่งจะต้องสังเกตการณ์หาหลักฐานยืนยันกันต่อไป

นักดาราศาสตร์กล่าวว่า ดาวฤกษ์ "61 Virginis" กับ "HD1461" ค่อนข้างจะคล้ายดวงอาทิตย์ของเราในแง่ มวลสาร ความสว่าง และองค์ประกอบ ซึ่งทำให้เป็นเทหวัตถุในห้วงอวกาศที่บรรดานักล่าดาวเคราะห์ต้องการศึกษา Gregory Laughlin นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากหอดูดาวในฮาวาย และในออสเตรเลียรวมกัน ที่นำไปสู่การค้นพบดังกล่าว

Gregory Laughlin กล่าวว่า ดาวเคราะห์ที่เพิ่งตรวจพบเหล่านี้ อาจเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกเราในแง่ที่ว่า อาจมีส่วนที่เป็นหิน และโลหะเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่น่าตื่นเต้นก็คือ การค้นพบนี้ชี้ช่องทางสู่การที่จะตรวจพบดาวเคราะห์แบบโลกเราได้ ในอีกไม่ช้าไม่นาน ซึ่งอาจจะเป็นใน 2 – 3 ปีข้างหน้าก็เป็นได้

นักดาราศาสตร์ตรวจพบดาวเคราะห์เหล่านั้น โดยใช้วิธีสังเกตการณ์โดยอ้อม ที่เรียกว่า Doppler Method หรือวิธีของนักฟิสิคส์ชาวออสเตรียสมัยศตวรรษที่ 18 Christian Doppler ในการสังเกตการเคลื่อนไหวแกว่งตัวของวัตถุ โดยดูจากการแปรเปลี่ยนของคลื่นแสง การศึกษาสังเกตการณ์การแปรเปลี่ยนของคลื่นแสงนั้น ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Spectrograph ตรวจ spectrum หรือแถบสีของคลื่นแสงที่แปรเปลี่ยนไป เมื่อวัตถุเคลื่อนที่แกว่งตัวใกล้เข้ามาหรือห่างออกไป ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมากขึ้นในการตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเรา

นักดาราศาสตร์ Gregory Laughlin อธิบายว่า เมื่อดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงแม่ แรงโน้มถ่วงจะดึงให้ดาวฤกษ์นั้นแกว่งตัวไปด้วย และการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้คลื่นแสงโดยรอบแปรเปลี่ยนไป และนักวิทยาศาสตร์จะสังเกตความเปลี่ยนแปลงนั้น ได้โดยใช้ Spectrograph ตรวจแถบสีของคลื่นแสงจากดาวฤกษ์นนั้นๆ การตรวจด้วยวิธีนี้ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานได้ว่า ดาวฤกษ์นนั้นๆ มีดาวเคราะห์โคจรรอบอยู่หรือไม่

นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Santa Cruz กล่าวว่า วิธี Doppler Method ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ ในการตรวจพบดาวเคราะห์ใหม่ ๆ และกำลังช่วยให้นักดาราศาสตร์ สามารถสำรวจตรวจหาดาวเคราะห์ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ และอาจเป็นดาวเคราะห์ที่เหมือนกับโลกเราได้ในอีกไม่ช้า

ขณะนี้ นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราราว 400 ดวงแล้ว รายงาน 2 ฉบับเกี่ยวกับการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ 4 ดวงนี้ ลงพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal


XS
SM
MD
LG