ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การขี้อายมากเกินไป อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลต่อการเข้าสังคมได้


เสียงหัวเราะ คือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกแบบหนึ่งของมนุษย์ และเชื่อกันว่า การที่คนทั่วไปหัวเราะเวลา เห็นคนอื่นทำอะไรตลกๆ เปิ่นๆ เชยๆ ก็เป็นปรากฎการณ์สากลของคนทุกชาติทุกภาษา

อย่างไรก็ตาม การที่คนบางคนกลัวที่จะถูกคนอื่นหัวเราะมากๆ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลต่อการเข้าสังคมของคนๆ นั้นได้

หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส แต่การทำอะไรแล้วถูกคนอื่นหัวเราะ คงเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีนักใช่ไหม มีคนขี้อายจำนวนไม่น้อย ที่มักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ ที่ต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมาก เพราะกลัวว่าจะไปพูดหรือทำอะไร ที่ทำให้คนอื่นหัวเราะเยาะ ความรู้สึกเช่นนั้นจะว่าไปก็คงไม่แปลก แต่หากมากเกินไปจนถึงกับหวาดระแวง ไม่กล้าออกสังคมเพราะเกรงว่าตนเอง จะเป็นเป้าหมายของการหัวเราะก็เป็นเรื่องน่าห่วงเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์เรียกอาการเช่นนั้นว่า โรคกลัวเสียงหัวเราะหรือ Gelotophobia ซึ่งมาจากภาษากรีก คือ Gelos ที่แปลว่าหัวเราะและ Phobos ที่แปลว่าความกลัว

อาจารย์ Victor Rubio ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์แห่งมหาวิทยาลัยกรุงมาดริด ชี้ว่า คนทั่วไปหัวเราะคนอื่น ด้วยหลายสาเหตุแตกต่างกัน เขาได้ร่วมกับนักวิจัยหลายประเทศ ศึกษาเรื่องโรคหวาดกลัวการหัวเราะว่า แตกต่างจากความอายตามปกติแค่ไหน และศึกษาว่าความกลัวหรือความอับอาย จากเสียงหัวเราะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมอย่างไร คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริค ในสวิสเซอร์แลนด์ได้รวบรวมข้อมูล จากแบบสอบที่แปลเป็น 42 ภาษา จากกลุ่มตัวอย่างราว 23,000 คนใน 73 ประเทศ และเปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าวในวารสาร Humor

ผลการวิจัยบอกว่า คนบางคนจะรู้สึกลังเลไม่แน่นอน เมื่อออกสังคม แต่จะเก็บซ่อนความรู้สึกไว้ หลายคนบอกว่า จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เดียวกับที่ตนเองเคยถูกหัวเราะเยาะมาก่อน และจำนวนมากเผยว่า ตนเองเกิดความกลัวในหลายๆ ระดับว่าจะกลายเป็นเหยื่อของเสียงหัวเราะ

นักวิจัยระบุว่า ความหวาดกลัวที่จะถูกหัวเราะเยาะ หรือล้อเลียนนั้นเป็นความรู้สึกปกติ แต่จะแตกต่างกันไป แต่ละชาติแต่ละภาษา เช่น ชาวเติร์กเมนิสถาน และกัมพูชาค่อนข้างจะเก็บซ่อนความรู้สึกหวั่นไหวของตัวเองไว้ เมื่ออยู่ท่ามกลางเสียงหัวเราะของคนรอบข้าง แต่ผู้คนในอิรัก อียิปต์และจอร์แดน ที่รู้สึกว่าตัวเองเคยตกเป็นเหยื่อของเสียงหัวเราะ จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่คล้ายๆ กัน สำหรับคนฟินแลนด์นั้น ดูเหมือนจะเป็นชนชาติที่ไม่ค่อยจะยินดียินร้าย กับเสียงหัวเราะรอบตัวเท่าไหร่ คือมีเพียง 8.5% ของคนฟินแลนด์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุด ที่จะคิดว่าเสียงหัวเราะเหล่านั้นมีเป้าหมายมาที่ตน ในขณะที่คนไทยเรานั้น รายงานระบุว่า ราว 80% มักจะเชื่อว่าตนเอง คือเป้าหมายสำคัญของเสียงหัวเราะของคนอื่นๆ



XS
SM
MD
LG