องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติการลงทุน ในโครงการก๊าซธรรมชาติมูลค่าหลายล้านดอลล่าร์ เนื่องจากปัญหาการละเมิดทธิมนุษยชน และเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่า โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นมีจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนถึงประธานาธิบดีจีน ส่งไปยังสถานฑูตจีนหลายแห่งในเอเชีย ออสเตรเลียและยุโรป
กลุ่มองค์กรเอกชนและพรรคการเมืองต่างๆ มากกว่า 100 กลุ่มใน 20 ประเทศเข้าร่วมในการร้องเรียนครั้งนี้ โดยขอร้องให้จีนยุติโครงการท่อก๊าซ "ฉ่วย" ความยาว 980 กิโลเมตร จากแคว้นอาระกันหรือยะไข่ในพม่าไปยังมณฑลยูนนานในประเทศจีน จดหมายร้องเรียนโดยกลุ่มความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกส่งไปยังสถานฑูตจีนในหลายประเทศ เช่น ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และบางประเทศในยุโรป
คุณหว่อง ออง โฆษกของกลุ่มความเคลื่อนไหวเรื่องโครงการท่อก๊าซ "ฉ่วย" กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่ได้ต่อต้านจีนหรือประเทศตะวันตก แต่เรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากการลงทุนในพม่านั้น ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมด้วย
บรรษัทปิโตรเลียมของรัฐบาลจีน ถือหุ้นใหญ่ในโครงการท่อก๊าซดังกล่าว และบริษัทแดวูของเกาหลีใต้ถือหุ้นบางส่วน โดยท่อก๊าซนี้จะใช้ขนส่งน้ำมันที่มาจากตะวันออกกลาง และอาฟริกา รวมทั้งก๊าซธรรมชาติจากอาระกันไปยังจีน คาดว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลพม่าอย่างน้อย 29,000 ล้านดอลล่าร์ในช่วง 30 ปี อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเครือข่ายทางเลือกใหม่อาเซี่ยน เผยว่า ประชาชนพม่าหลายพันคนต้องถูกไล่ที่ และจะยิ่งเป็นการสนับสนุนศักยภาพการทำสงครามของกองทัพพม่า
คุณ Debbie Stothardt โฆษกหญิงของเครือข่ายทางเลือกใหม่อาเซี่ยน กล่าวว่า ผู้คนทั่วไปมักจะมองข้ามต้นทุนทางเศรษฐกิจของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในกรณีของโครงการท่อก๊าซ "ฉ่วย" นั้น เห็นได้ชัดว่าจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และไม่ได้ส่งผลเพียงแค่พม่าเท่านั้น แต่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด
สหรัฐและประเทศอื่นๆ ได้กำหนดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ ต่อรัฐบาลทหารพม่า เนื่องจากเหตุผลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่จีน อินเดียและบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงลงทุนในพม่าต่อไป อาจารย์สมภพ มานะรังสรรค์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา ไทยและจีน ได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลทหารพม่าผ่านทางการลงทุน
อาจารย์สมภพบอกว่า รัฐบาลพม่าเข้มแข็งขึ้นทางเศรษฐกิจ และได้เงินตราต่างประเทศจากการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่ไทย ในขณะที่จีนเข้าไปลงทุนในพม่ามากมายหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพลังงาน
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า เริ่มมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ก่อสร้างท่อก๊าซหลายแห่ง ในขณะที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาล ได้เข้ายึดหรือจับจองพื้นที่ตามแนวที่จะวางท่อก๊าซ จนก่อให้กิดความหวั่นเกรงว่าจะมีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย ตามแนวที่ท่อก๊าซนี้ผ่านไป