ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประชุมที่กรุงลอนดอน หาหนทางทำให้โรงพยาบาลทั่วโลกปลอดภยขึ้น


วันพุธที่ผ่านมา เป็นวันบรรเทาภัยพิบัติสากล ที่กรุงลอนดอนได้มีการจัดประชุม ในประเด็นเรื่องจะทำให้โรงพยาบาลทั่วโลกปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่มักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ

เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญคือเรื่องการจัดหาความช่วยเหลือฉุกเฉิน ไม่ว่าจะด้านอาหาร น้ำดื่ม หรือการแพทย์ แต่มักจะมองข้ามเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งไป นั่นคือหากโรงพยาบาลต่างๆ จมอยู่ใต้น้ำท่วมหรือถล่มลงเพราะแผ่นดินไหว แล้วจะทำอย่างไร?

ในการประชุมที่กรุงลอนดอน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจากทั่วโลก ตลอดจนผู้แทนองค์กรความช่วยเหลือต่างๆ นักวางแผน สถาปนิกและวิศวกร เข้าร่วมหารือถึงวิธีทำให้โรงพยาบาลต่างๆปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรงขึ้น เพื่อให้สามารถยืนหยัดบริการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ คุณ Helena Molin-Valdes รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติขององค์การสหประชาชาติ กล่าวกับวีโอเอว่า สถานพยาบาลต่างๆ ต้องเป็นส่วนสำคัญของการบรรเทาทุกข์

คุณ Valdes บอกว่าเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก หากไม่มีสถานพยาบาลที่คอยทำงานช่วยเหลือและตอบสนองต่อความต้องการแล้ว ก็เหมือนกับยิ่งทำให้ภัยพิบัตินั้นเลวร้ายรุนแรงขึ้นไปอีกระดับ

เหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บ่งบอกถึงความเปราะบางของโรงพยาบาลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2004 ที่สร้างความเสียหายแก่สถานีอนามัยจำนวนมากในอินโดนีเซีย หรือพายุไซโคลนในพม่าเมื่อปีที่แล้วซึ่งทำลายโรงพยาบาล 1 ใน 5 ของพม่า ในขณะที่องค์การอนามัยโลกประเมินว่าสถานพยาบาลอย่างน้อย 9 หมื่นแห่งในประเทศกำลังพัฒนา 49 ประเทศ อาจถูกทำลายโดยภัยธรรมชาติได้ง่ายๆ และในหลายพื้นที่ของประเทศยากจนหลายประเทศนั้น แม้แต่สถานีอนามัยขั้นพื้นฐานก็ยังไม่มี

คุณ Helena Molin-Valdes ระบุว่า จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขโดยรวมเพื่อตอบสนองความต้องการในแต่ละวันเสียก่อน เพราะหากไม่มีโครงสร้างด้านนี้แล้ว ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ดีขึ้นโดยทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ พร้อมทั้งชี้ว่าสถานพยาบาลคือปัจจัยขั้นพื้นฐานของชุมชน และถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในภาวะฉุกเฉิน เช่น ใช้รับมือการระบาดของโรคร้ายต่างๆ ตลอดจนการรณรงค์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในแต่ละชุมชน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติบันทึกไว้ว่ามีเหตุการณ์ที่เข้าข่ายหรือเรียกได้ว่าเป็นภัยธรรมชาติเฉลี่ยปีละ 400 เหตุการณ์ โดยเฉพาะแค่ปีที่แล้วปีเดียว มีประชากรโลกเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติทั้งหมดมากกว่า 235,000 คน คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียราว 200,000 ล้านดอลล่าร์


XS
SM
MD
LG