ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF กับธนาคารโลก ซึ่งจัดทำเป็นประจำทุกๆ หกเดือน
การประชุมครั้งนี้มีขึ้นที่นครอิสตันบูล ในประเทศตุรกี และประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ที่ประชุมให้ความสนใจเป็นอย่างมากในยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก คือธุรกิจการเงินแบบอิสลาม ที่กำลังมีบทบาทในวงการการเงินต่างประเทศมากขึ้นทุกที
ธุรกิจการเงินแบบอิสลามนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว โดยมองกันว่าเป็นธุรกิจการเงินเฉพาะประเทศอิสลามเท่านั้น
แต่ในการประชุมร่วมระหว่าง IMF กับธนาคารโลกครั้งนี้ รัฐมนตรี Sri Mulyani Indrawati ของกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกเวลานี้ ธุรกิจการเงินแบบอิสลามให้บทเรียนที่ดี
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียกล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการดำเนินการทางการเงินที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก ในขณะที่ธุรกรรมตามแบบอิสลาม ซึ่งอาศัย Sharia หรือกฎทางศาสนาเป็นหลัก มีกลไกอยู่ในตัว ที่จำกัดการดำเนินการสุ่มเสี่ยงเยี่ยงนั้น และเชื่อว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจ กับเครื่องมือทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม และธนาคารเพื่อการพัฒนาของอิสลาม หรือ Islamic Development Bank ด้วย
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในระบบทุนนิยมของโลกตะวันตกกับในระบบของศาสนาอิสลาม คือเรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามพระคัมภีร์โกหร่าน
ดร. Abdul Aziz Al-Hinai รองผู้จัดการใหญ่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม อธิบายว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของอิสลาม อาศัยการประเมินความเสี่ยง และผลกำไรอย่างละเอียดถี่ถ้วน และการร่วมรับภาระการสูญเสียและกำไร ในขณะที่ธนาคารในระบบทุนนิยม ไม่รับภาระการสูญเสีย แต่เก็บผลกำไร
เจ้าหน้าที่ของ Islamic Development Bank ผู้นี้อธิบายว่า ด้วยเหตุนี้ จึงจะได้ยินคำพูดที่ว่า ธุรกิจการเงินแบบอิสลามเป็นธุรกิจของระบบเศรษฐกิจจริงๆ ไม่มีการให้กู้เงินโดยไม่มีทรัพย์สินรองรับ และหนี้สินจะมีจำนวนมากกว่าทรัพย์สินไม่ได้ จะเห็นได้ว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าแน่นอน
กรรมการผู้จัดการของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ Charles Dallara ให้ความเห็นว่า ความสามารถในการประเมินความเสี่ยง ในธุรกิจการเงินแบบอิสลามนี้ เป็นเรื่องที่ตลาดการเงินทั่วไปควรจะเรียนรู้
กรรมการผู้จัดการ ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศผู้นี้กล่าวว่า ถ้ามีการประเมินความเสี่ยงในลักษณะนี้กับการดำเนินการบางอย่างทางธุรกิจการเงิน ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา บางทีอาจไม่ต้องประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างที่เกิดขึ้นได้
ชื่อเสียงของเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แบบอิสลามกำลังเป็นที่กล่าวขวัญ และยอมรับกันมากขึ้นในตลาดการเงินในยุโรป ดร. Abdul Aziz Al-Hinai รองผู้จัดการใหญ่ของธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม เล่าว่า ธนาคารในเยอรมนีกำลังติดต่อขอความช่วยเหลือทางเทคนิค ในการจะเริ่มต้นให้บริการทางด้านนี้ รวมทั้งการหาคู่ร่วมงานจากตะวันออกกลาง ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆขึ้นมา
ในขณะเดียวกัน ตลาดการเงินในกรุงลอนดอน กำลังกลายมาเป็นศูนย์กลางของธุรกิจการเงินแบบอิสลาม ในขณะที่ฝรั่งเศสแสดงความกระตือรือร้น ที่จะทำเช่นนั้นให้ได้บ้าง
ผู้บริหารของทั้ง IMF และธนาคารโลกให้ความเห็นไว้ว่า ในยุคหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกนี้ ความท้าทายที่สำคัญอันหนึ่ง คือการจัดระบบตลาดการเงินโลกเสียใหม่ โดยจะต้องรวมตลาดของประเทศที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนาไว้ด้วย และผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบอิสลามมากขึ้น ในตลาดยุโรปและสหรัฐ เป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง