ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปัจจุบัน ประชากรโลกมากกว่าครึ่ง ต่างอาศัยอยู่ในเขตเมือง


หน่วยงานด้านที่อยู่อาศัย ขององค์การสหประชาชาติหรือ UN Habitat รายงานว่า ปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง และประเมินว่าภายในปี 2030 หรืออีก 21 ปีข้างหน้า ประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีจำนวนมากกว่า 67% หรือราว 5 พันล้านคน

รายงานของสำนักงานที่อยู่อาศัยสหประชาชาติหรือ UN Habitat ระบุว่าปัจจุบันมีมหานครอย่างน้อย 40 แห่งทั่วโลกที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคน และตัวเลขดังกล่าวกำลังเพิ่มสูงขึ้นนะครับ รายงานเตือนว่าแนวโน้มที่ว่านี้อาจก่อให้เกิดหายนะได้ หากไม่มีการคำนึงถึงความต้องการของคนยากจนในเมือง

คุณ George Deikun ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายของ UN Habitat ชี้ว่า ภายในปี 2030 ประชากรโลกราว 40% หรือมากกว่า 3 ล้านคน จะต้องการที่อยู่อาศัยและบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ในเขตเมือง

คุณ Deikun ระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลก 1 พัน 6 ร้อยล้านคนหรือราว 25% อาศัยอยู่ในสลัม เฉพาะในอาฟริกานั้น ราว 60% ของประชากรที่อาศัยในเขตเมือง หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรอาฟริกาทั้งหมดอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนการวางแผนด้านนโยบายต่างๆ ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเมืองมากขึ้น

UN Habitat เตือนว่า เขตสลัมและชุมชนแออัดในมหานครต่างๆ จะขยายตัวออกไป ซึ่งเป็นผลมาจากคนไร้ที่อยู่อาศัยและผู้ลี้ภัย ต่างมุ่งหน้าเข้าไปในเมือง ก่อให้เกิดการแย่งชิงที่พักอาศัย ที่ดิน น้ำ อาหาร งาน และบริการด้านสาธารณสุขซึ่งมีอยู่จำกัด และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างแรงงานอพยพกับประชาชนเจ้าของพื้นที่ ที่ปรึกษาอาวุโสของ UN Habitat ยังบอกด้วยว่า การที่ประชากรโลกอาศัยอย่างหนาแน่น ในเขตเมืองหรือในชุมชนแออัดต่างๆ ยังเพิ่มความเปราะบางต่อการสูญเสียจากภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ มากขึ้นด้วย

คุณ Deikun กล่าวว่าความสูญเสียต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของคนจนในเมือง อันเนื่องมาจากพายุไซโคลน เฮอริเคนหรือน้ำท่วม จะเพิ่มสูงมากเพราะคนเหล่านั้น อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มี่ความเสี่ยงสูง และคนจนในเขตเมือง ยังขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข รวมถึงน้ำสะอาด การอนามัยและบริการพื้นฐานอื่นๆ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในชุมชนแออัด

นอกจากนี้ คุณ Deikun แห่ง UN Habitat ยังระบุถึงภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจส่งผลให้เมืองตามแนวชายฝั่งทะเลและพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำต่างๆ เสี่ยงต่อการจมลงหรือถูกน้ำท่วมใหญ่ได้ง่าย ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของมหาวิทยาลัยโคโลราโด ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 85% ของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุด 33 แห่งทั่วโลกเคยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่มาแล้วและมีความเสี่ยงสูงที่จะจมลง เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น คิดเป็นพื้นที่ราว 260,000 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดนั้น รวมถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยนะครับ รายงานบอกว่าในแต่ละปี พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา จมลงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-150 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้

รายงานของ UN Habitat แนะนำว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรมีการจัดวางผังเมืองใหม่ให้ดีขึ้น พร้อมทั้งจัดหาที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค สาธารณสุขและการคมนาคมที่ปลอดภัย เหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน และที่สำคัญ ควรนำปัญหาของคนยากจนในเมืองมาประกอบการจัดทำนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นด้วย

XS
SM
MD
LG