ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนยังคงซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ แม้ว่าทั่วโลกกำลังประสบวิกฤติการณ์ด้านการเงิน


แม้จะมีวิกฤติการณ์การเงินทั่วโลก แต่บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ยังคงซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศต่อไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ คาดว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปอีกใน 5 – 10 ปีข้างหน้า

บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งมีเงินสดเป็นจำนวนมาก กำลังขยายกิจการด้านแหล่งทรัพยากรออกไปทั่วโลก บริษัทเหล่านี้กว้านซิ้อเชื้อเพลิง และสิ้นคาโภคภัณฑ์ต่างๆ ไปตั้งแต่ออสเตรเลียจนถึงอิรัค การลงทุนในต่างประเทศของจีน ในครึ่งแรกของปีนี้ราว 90 % อยู่ในภาคพลังงาน และวัสดุพื้นฐาน เมื่อปีที่แล้ว จีนทำความตกลงควบรวมกิจการ และเข้าถือกรรมสิทธิ์ทั้งหมดเป็นมูลค่าราว 24,000 ล้านดอลลาร์

Jing Ulrich ผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์ และสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนที่ธนาคารการลงทุน JP Morgan แสดงความเห็นว่า วิธีการของรัฐบาลจีน คือ การค่อยๆ เข้าถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินด้านทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นในการกระตุ้นการพัฒนาในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจีนจะเพิ่มการเข้าถือกรรมสิทธิ์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และน้ำมันราว 50 % ในปีนี้ โดยถือโอกาสที่ราคาถูกลงเนื่องจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ จีนเป็นผู้ซื้อแร่เหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ใช้เหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดในโลก

Andrew Lam แห่งบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน Thornton ในฮ่องกงกล่าวว่า โครงการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการใหญ่ในปีนี้ ทำให้บริษัทของจีนที่ต้องการขยายกิจการใหญ่โตมีทุนเพิ่มขึ้น จีนมีเงินตราต่างประเทศสำรอง 2 ล้านล้านดอลลาร์ รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจโดยผ่านทางธนาคารใหญ่ๆ และเงินส่วนนี้กำลังนำไปใช้จ่ายต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

การที่จะส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ รัฐบาลจะต้องปรับปรุงกระบวนการอนุมัติให้มีความคล่องตัว ส่งเสริมการอุดหนุนทางการเงิน และอนุญาตให้บริษัทต่างๆ คงเก็บรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศไว้ได้ เท่าที่แล้วมา ข้อตกลงรายใหญ่ที่สุดในปีนี้ คือ การเข้าถือกรรมสิทธิ์บริษัท Addax Petroleum ของสิงคโปร์มูลค่า 7,000 ล้านดอลล่าร์เมื่อเดือนสิงหาคม ซึ่งบริษัทนี้กำลังทำงานกับบ่อน้ำมันในเขตเคอร์ดิสถานของอิรัค

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะมีเงินสดมากพอ และไม่รีรอที่จะทาบทามบริษัทใหญ่ๆ ในโลก แต่บริษัทเหล่านั้นมักมีข้อจำกัด อย่างข้อเสนอมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ของบริษัท Chinalco ของจีนที่จะเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทเหมืองแร่ใหญ่ของโลก Rio Tinto ในออสเตรเลีย ถูกปฏิเสธ และเรื่องนี้นำไปสู่การที่เจ้าหน้าที่บริหารของ Rio Tinto 4 คน ถูกจับที่นครเซี่ยงไฮ้ในข้อหาติดสินบน และทำจารกรรมทางพาณิชย์ กรณีดังกล่าวเน้นให้เห็นความยุ่งยากซับซ้อนทางการเมือง ที่มีขึ้นมาจากการทำความตกลงกับบริษัทรัฐวิสาหกิจ

David Li อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า การที่ความต้องการของจีนที่จะได้ทรัพยากรอย่างมากมายนั้น มีศักยภาพที่จะช่วยบรรดาประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรมากมายอย่างมองโกเลีย และไนจีเรียให้ยกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของตน ซึ่งจะเป็นการดีต่อทั้งจีนเองและประเทศเหล่านั้น และต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก


XS
SM
MD
LG