ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาวิจัยระบุว่า คนนอนหลับไม่เพียงพอ เสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าปกติ


รายงานชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน มลรัฐมิสซูรี่ ระบุว่า คนที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์สมากกว่าปกติ โดยนักวิจัยพบว่าการหลับๆ ตื่นๆ ในตอนกลางคืน มีผลให้เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาท ซึ่งนำไปสู่โรคความจำเสื่อม และอาจถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด

รายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับสัปดาห์นี้ ระบุว่าลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์ส คือการก่อตัวของสารคล้ายคราบหินปูน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของโปรตีน เมื่อมีมากเกินไปจะทำให้เป็นอุปสรรค ต่อการทำงานของเซลล์สมอง สารคล้ายคราบหินปูนนี้เกิดจากการสะสมโมเลกุลโปรตีนที่เรียกว่า amyloid beta peptide โดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มลรัฐมิสซูรี่ ค้นพบหลักฐานใหม่ที่บ่งชี้ว่า ระดับของโมเลกุลโปรตีนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการนอนหลับพักผ่อนของแต่ละคน จากการทดลองวัดระดับ amyloid beta peptide ของคนและหนูทดลองด้วยการให้อดหลับอดนอน พบว่าหากนอนน้อย จะมีระดับโมเลกุลที่ว่านี้เพิ่มขึ้นราว 25%

David Holtzman หัวหน้าฝ่ายประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ตั้งสมมติฐานว่า สาร amyloid beta peptide อาจจะถูกปล่อยออกมา ในขณะที่ทำกิจกรรมในยามตื่น และจะลดลงในช่วงที่นอนหลับ งานวิจัยครั้งนี้ระบุว่า คนที่หลับยากหรือนอนน้อย เช่นผู้ที่ป่วยเป็นโรค Sleep apnea หรืออาการหายใจติดขัดหรือหยุดหายใจ ในขณะหลับทำให้ต้องตื่นหลายๆ ครั้งในตอนกลางคืนนั้น คือกลุ่มที่มีความเสี่ยง ต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์สมากกว่า เนื่องจากสมองพักผ่อนไม่เพียงพอ

คุณหมอ Steven Park ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก แห่งวิทยาลัยการแพทย์นิวยอร์ค กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สเกือบ 90% อาจมีอาการของโรค Sleep apnea ร่วมด้วย ดังนั้นผู้ป่วยอาจได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่ใช้รักษาโรค Sleep apnea ชื่อว่า CPAP หรืออุปกรณ์ที่ช่วยดันอากาศเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิดในขณะหลับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้นและยาวนานขึ้น

คุณหมอ Park บอกว่า เนื่องจากทั้งสองโรคมีความเกี่ยวข้องกัน เมื่อใช้อุปกรณ์ CPAP รักษาผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ส และโรค Sleep apnea จะช่วยให้อาการความจำเลอะเลือนเริ่มลดลงได้

ในขณะที่คุณ David Holtzman นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เชื่อว่างานวิจัยครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนายา หรือวิธีการชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ส ซึ่งมักจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคน และนักวิจัยผู้นี้แนะนำว่า พยายามนอนให้พอ นอนมากๆ นอนนานๆ เพื่อชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ส และเพื่อให้ความทรงจำอยู่กับเราไปอีกนานๆ เช่นกัน


XS
SM
MD
LG