ในสัปดาห์นี้ การประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ค จะเริ่มต้นขึ้น และตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา ประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ จะกล่าวปราศัยต่อที่ประชุมเป็นคนแรก
เริ่มต้นกันในวันอังคาร เลขาธิการ Ban Ki-moon ขององค์การสหประชาชาติ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ในเรื่องบรรยากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไป บรรดารัฐบาลประเทศต่างๆ ตั้งความหวังกันไว้ว่า จะสามารถทำความตกลง เรื่องการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอน ไดออกไซด์อย่างจริงจัง ให้ได้ทันการประชุมเรื่องบรรยากาศโลกที่กรุงโคเปนเฮเกน นครหลวงของประเทศเดนมารค์ในเดือนธันวาคมนี้
คาดกันว่า จะมีผู้นำของประเทศต่างๆ มากกว่า 90 คนร่วมการประชุมที่ว่านี้ เลขาธิการสหประชาชาติบอกว่า ที่จัดการประชุมนี้ขึ้นมาก็เพราะเป็นห่วงว่า การเจรจาที่ทำกันมาในเรื่องนี้ก้าวหน้าไปอย่างเชื่องช้ามาก
นาย Ban Ki-moon เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า ต้องการจะให้ผู้นำโลกแสดงให้เห็นว่า เข้าใจปัญหาความเสี่ยงในเรื่องบรรยากาศโลกอย่างจริงจัง และต้องการที่จะให้บุคคลเหล่านั้น ได้แสดงพันธกรณีว่า จะทำความตกลงกันให้ได้ที่โคเปนเฮเกน โดยออกคำสั่งให้คณะผู้แทนเจรจาของตน เร่งรัดการทำงานเพื่อให้ได้ข้อตกลง เรื่องบรรยากาศโลกที่เป็นธรรม ได้ผล สมบูรณ์ และถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์
ในวันพุธ สมาชิกทั้ง 192 ประเทศของสหประชาชาติ เริ่มการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีที่ 64
ดร. Susan Rice ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของสหรัฐกล่าวว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จะกล่าวปราศัยต่อที่ประชุม ซึ่งนับได้ว่าเป็นคำปราศัยครั้งประวัติศาสตร์ และจะบรรยายวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในศตวรรษที่ 21 และความจำเป็น ที่จะต้องเลิกคิดถึงการแบ่งแยกที่เป็นมาในอดีต และมุ่งเน้นในเรื่องของอนาคต ประธานาธิบดีโอบาม่าจะกำหนดแนวทางใหม่ สำหรับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ และความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อสมาชิกทุกประเทศ จะได้มีส่วนร่วมในความมั่นคง และความมั่งคั่งไพบูลย์ด้วยกัน
รัฐบาลสหรัฐชุดประธานาธิบดีโอบาม่า ได้พยายามที่จะดำเนินงานทางด้านการต่างประเทศ ในลักษณะพหุภาคี รวมทั้งปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหประชาชาติด้วย
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังจะเข้าร่วมการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคง ขององค์การสหประชาชาติ ในฐานะประธานในที่ประชุม ตามการหมุนเวียนเปลี่ยนประธานของคณะมนตรีความมั่นคง สหรัฐดำรงตำแหน่งประธานของที่ประชุมในเดือนนี้
นับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีของสหรัฐ จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และคาดว่าประเด็นสำคัญ ที่ที่ประชุมจะหารือกัน คือเรื่องการจำกัดการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และการลดกำลังรบ