บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศ G-20 กำลังรวมตัวกันอยู่ที่นคร Pittsburgh รัฐเพนซิลเวเนีย สำหรับการประชุมสุดยอดทางเศรษฐกิจ คำถามก็คือ ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้คืออะไร?
ปัญหาสำคัญสองเรื่องที่บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ G-20 อยากจะหาข้อสรุปในการประชุมครั้งนี้ คือ การออกกฎข้อบังคับ ที่จะใช้ได้ผลมากขึ้นในเรื่องการเงินระหว่างประเทศ และรัฐบาลต่างๆ ควรจะระงับหรือยุติการใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เมื่อไหร่ และอย่างไร
ก่อนหน้าการประชุมที่ Pittsburgh รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่ของบรรดาภาคีกลุ่ม G-20 ได้หารือกันมาหลายรอบแล้ว เพื่อประเมินความก้าวหน้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ต่อรองกันในเรื่องกฎข้อบังคับใหม่ๆ ที่จะควบคุมดูแล ลดความเสี่ยง และป้องกันการล่มสลายของตลาดการเงินในอนาคต
อย่างน้อยเท่าที่ตกลงกันได้ในแนวทาง คือการกำหนดให้ธนาคารเพิ่มอัตราเงินสำรอง สำหรับเตรียมรับกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา ถ้าเงินกู้และการลงทุนกลายเป็นหนี้เสียหรือเป็นการสูญเสียขึ้นมา
แต่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ คือกฎข้อบังคับ ที่จะจำกัดการจ่ายเงินโบนัสเป็นจำนวนมากๆ ให้กับผู้บริหารธุรกิจ ภาคีของสหภาพยุโรปหรือ EU ต้องการจำกัดจำนวนเงินดังกล่าวอย่างเข้มงวดกวดขัน
รัฐมนตรี Christine Lagarde ของกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า ภาคีของอียูจะมุ่งมั่นติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะกฎข้อบังคับเรื่องการเงินมีความสำคัญมาก การให้เงินโบนัสจำนวนสูงอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และจะปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้นต่อไปอีกไม่ได้
ทั้งฝรั่งเศส และเยอรมนีต้องการจำกัดจำนวนเงินโบนัส ในขณะที่สหรัฐยังสงนท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจะมีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมที่ Pittsburgh
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ รัฐบาลควรจะระงับ หรือยุติการใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เมื่อไหร่ และอย่างไร
รัฐมนตรี Xie Xuren ของกระทรวงการคลังของจีน ให้ความเห็นว่า ยังเร็วเกินไปที่จะทำเช่นนั้น นักวิจัย John Kirton ของ สถาบันวิจัย G-20 Research Group ในแคนาดา ให้ความเห็นว่า จีนต้องการใช้จ่ายเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เพราะต้องการเพิ่มการส่งออก และสร้างงานให้กับชาวไร่ชาวนา ที่เข้าไปแสวงหางานตามเมืองใหญ่ในประเทศ เป็นการป้องกันการจลาจล และสร้างเสถียรภาพทางสังคม ซึ่งอาจท้าทายรัฐบาลทางการเมืองได้
นักวิเคราะห์ Ted Truman แห่งสถาบัน Peterson บอกว่า การประสานงานระหว่างประเทศ มีความสำคัญยิ่ง
นักวิเคราะห์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า ถ้ามีวิกฤติการณ์เกิดขึ้นในเกาหลี ผลกระทบจะกระจายไปทั่วโลก ถ้ามีวิกฤติการณ์เกิดขึ้นในบราซิล ผลกระทบจะกระจายไปทั่วโลก และก็ได้เห็นกันมาแล้วว่า เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นในสหรัฐ ทั่วโลกได้รับความกระทบกระเทือน
แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่า การประชุมสุดยอดที่ Pittsburgh ครั้งนี้จะมีข้อตกลงที่สำคัญ แต่นักวิจัย Claude Barfield แห่งสถาบัน American Enterprise ที่กรุงวอชิงตันเชื่อว่า จะมีผลกระทบในทางบวกเกิดขึ้น
นักวิเคราะห์ผู้นี้เชื่อว่า จะมีผลกระทบทางจิตวิทยาเกิดขึ้น และอย่างที่ได้เรียนรู้กันในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่า จิตวิทยามีความหมายเป็นอย่างมากต่อตลาด
และตลาดยอมรับความมั่งคั่ง กลุ่มประเทศ G-20 รวมกันแล้วมีผลผลิตทางเศรษฐกิจเท่ากับ 80% ของผลผลิตทั้งหมดในโลก และรวมจำนวนประชากรทั้งหมด เท่ากับสองในสามของประชากรโลก