ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การเพาะเลี้ยงสาหร่าย เพื่อนำมาใช้ทำเชื้อเพลิง Ethanol


ขณะที่ความต้องการพลังงานทั่วโลก นับวันจะมีมากขึ้น เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับการผลิตพลังงานกำลังมีความจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็กำลังมีความวิตกในเรื่องที่ว่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย

นักวิจัยในประเทศต่างๆ กำลังพยายามหาเชื้อเพลิงสำรองเผื่อเลือก มาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และบริษัทในสหรัฐบริษัทหนึ่ง อาจมีช่องทางแก้ปัญหาดังกล่าวจากการเพาะเลี้ยงสาหร่าย

บริษัทใหม่ในรัฐฟลอริดา ชื่อ Algenol กำลังร่วมงานกับบริษัท Dow Chemical ในแผนการสร้างปฏิกรณ์ชีวภาพมากกว่า 3,000 เครื่องในบริเวณชายฝั่งทางใต้ของเมือง Houston ในรัฐ Texas โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีหน้า ปฏิกรณ์ชีวภาพนั้น จะเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่จะนำมาใช้ทำเชื้อเพลิง ethanol ได้โดยใช้กรรมวิธีพิเศษบริษัทนี้พัฒนาขึ้นมา ในกระบวนวีธีนั้น จะนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟาที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในบริเวณใกล้ๆ กันมาช่วยในการบำรุงเลี้ยงสาหร่ายให้เจริญเติบโต บริษัท Algenol ทดลองกรรมวิธีนี้มาแล้วกับปฏิกรณ์ชีวภาพ 40 เครื่องในรัฐฟลอริดา ส่วนบริษัท Dow Chemical จะมุ่งในการผลิตสารจากสาหร่ายที่จะนำมาใช้ในการทำพลาสติก ซึ่งตอนนี้ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตสารนั้นอยู่

ปฏิกรณ์ชีวภาพของบริษัท Algenol จะทำให้มีก๊าซอ๊อกซิเจนออกมาเป็นผลพลอยได้ ซึ่งจะนำไปใช้ป้อนโรงไฟฟ้าเพื่อช่วยให้การเผาไหม้ถ่านหินสะอาดขึ้น และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้ออกมา ก็นำไปแปรรูปส่งกลับเข้าไปที่ปฏิกรณ์ชีวภาพ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของสาหร่ายหมุนเวียนกันไป ทันทีที่สร้างสถานที่เสร็จพร้อม เชื้อเพลิงที่ผลิตออกมาจะมีความสามารถในการแข่งขันกับน้ำมันเบ็นซินที่ผลิตจากเชื้อเพลิงเปโตรเลียมที่โรงกลั่นใกล้ๆ กันนั้นได้เลยทีเดียว

Paul Woods ประธานกรรมการบริหารของบริษัท Algenol กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งผลิตเชื้อเพลิงที่ราคาถูกกว่าน้ำมันเบ็นซินออกสู่ตลาด

ผู้เชี่ยวชาญ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางคนยังแคลงใจ เกี่ยวกับผลประโยชน์ของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะเอ็ธธานอลที่ผลิตจากข้าวโพด แต่ Paul Woods อธิบายว่า สาหร่ายที่เพาะเลี้ยงด้วยกรรมวิธีของบริษัท Algenol นั้นผลิตพลังงานได้มากกว่าที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงถึง 8 เท่า ขณะที่เอ็ธธานอลที่ผลิตจากข้าวโพด ให้พลังงานได้มากกว่าที่ใช้ในการทำเอ็ธธานอลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และที่ต่างจากข้าวโพดก็คือ สาหร่ายแบบนี้ไม่ได้ใช้เป็นอาหาร

หลักสำคัญของกรรมวิธีของบริษัท Algenol อยู่ที่การเจริญงอกงามของสาหร่าย ในระยะยาวและการสะกัดเชื้อเพลิงออกมาได้อย่างต่อเนื่อง แทนที่จะเป็นการหุงต้มสารในการผลิตเชื้อเพลิงอย่างการผลิตเอ็ธธานอลส่วนใหญ่จาก ข้าวโพด อ้อย หรือกากของเสียต่างๆ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน สนับสนุนการพัฒนารถยนตร์ไฟฟ้า มากกว่าที่จะสนับสนุนการทุ่มลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ผู้บริหารของบริษัท Algenol กล่าวว่า แนวคิดนั้นถูกจำกัดด้วยแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถบรรทุกใหญ่ๆ หรือเครื่องจักรกลสำหรับงานหนัก และอธิบายว่าเชื้อเพลิงชนิดเหลว สำหรับพาหนะในการขนส่งมักจะมีข้อได้เปรียบ เพราะมีความหนาแน่น ของพลังงานมากกว่าแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้เชื้อเพลิงชนิดเหลว เหมาะสำหรับใช้งานไม่เฉพาะแต่กับรถบรรทุกใหญ่ๆ หรือเครื่องจักรกลสำหรับงานหนักเท่านั้น แต่สำหรับใช้กับรถยนตร์ทั่วไป หรือการขนส่งทั่วไปที่ต้องใช้เชื้อเพลิง

นอกจากนั้นเชื้อเพลิงชีวภาพ ยังได้รับความสนับสนุนจากนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลด้วย รัฐบัญญัติความเป็นอิสระ และความมั่นคงด้านพลังงานปี 2550 กำหนดให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้นในหลายสิบปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตเชื้อเพลิงสำรองเผื่อเลือก แบบหมุนเวียนแปรรูปกลับมาใช้ได้ใหม่ให้ได้มากกว่า 136,000 ล้านลิตรภายในปี 2565


XS
SM
MD
LG