ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เทคโนโลยีใหม่ของออสเตรเลีย ในการช่วยให้สาหร่ายเก็บกักก๊าซ ที่ก่อให้เกิดปรากฏหารณ์ในเรือนกระจก


เวลานี้ออสเตรเลียกำลังเตรียมแนะนำเทคโลยีใหม่ ที่จะช่วยให้สาหร่ายสามารถกักเก็บก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก ซึ่งโรงงานไฟฟ้าต่างๆ ปล่อยออกมาได้ราวครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น

โดยสาหร่ายขนาดจิ๋วนี้เจริญเติบโตได้ดีภายใต้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสำหรับปศุสัตว์ นำมาไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกได้อีกด้วย

บรรดานักวิจัยเชื่อกันว่า สาหร่าย พืชที่ดูต่ำต้อย ไร้ราก และมักจะเป็นอาหารของสัตว์น้ำนั้น อาจเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การปฏิวัติแนวทางรับมือ กับปัญหาภาวะโลกร้อนได้ แนวคิดนี้คือการสูบมลพิษหรือไอเสียที่เกิดจากโรงงานไฟฟ้า ส่งเข้าไปยังเตาปฎิกรณ์ชีวภาพ ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดใหญ่หลายท่อบรรจุด้วยสาหร่าย เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาจากโรงงานผสมเข้ากับน้ำ สาหร่ายในท่อนั้นก็จะดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เอาไว้เพื่อเป็นสารอาหารให้กับตัวเอง

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เมื่อนำสาหร่ายที่กักเก็บก๊าซไว้แล้วออกจากเตาปฎิกรณ์ชีวภาพ อาจนำสาหร่ายนั้นไปฝังไว้ที่ก้นทะเล ซึ่งจะสามารถกักเก็บก๊าซที่เป็นสาเหตุให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกนี้ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังอาจนำสาหร่ายนั้นไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือปุ๋ย หรือใช้เสี้ยงปศุศัตว์ได้อีกด้วย อาจารย์ Kirsten Heimann แห่งมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ในรัฐควีนสแลนด์ เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีหรือแนวคิดที่ว่านี้

อาจารย์ Heimann ระบุว่า ไม่ว่าสาหร่ายจะดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ด้วยตัวเองหรือมนุษย์เป็นผู้ป้อนให้ เมื่อได้รับแสงอาทิตย์ สาหร่ายจะเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนนั้น ให้กลายเป็นน้ำตาล โปรตีน และน้ำมัน

เวลานี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย 3 โรงงาน กำลังปลูกไร่สาหร่าย เพื่อช่วยลดมลพิษในออสเตรเลียที่ซึ่งใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินถึง 80% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันในโรงไฟฟ้าเหล่านี้ คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ปัจจุบันออสเตรเลียคือหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการผลิตก๊าซ ที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก ต่อหัวประชากรมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การใช้เทคโนโลยีชีวภาพจากสาหร่าย จึงเป็นแนวทางใหม่แห่งความหวังของออสเตรเลียในการแก้ไขภาวะโลกร้อน และนอกจากที่ออสเตรเลียแล้ว นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐและเยอรมันนีต่างกำลังทดสอบเทคโนโลยีชีวภาพ จากสาหร่ายนี้เช่นเดียวกัน

XS
SM
MD
LG