ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทางการชิลีพบเชื้อไวรัส A/H1N1 ที่ทำให้เป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 แพร่ระบาดในฟาร์มเลี้ยงไก่เตอรกีสองแห่งในประเทศ


แม้การระบาดที่ว่านี้ จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ก็ทำให้วิตกกังวลกันว่า เชื้อไวรัสนี้อาจไปผสมกับเชื้อไวรัส H5N1 ที่ร้ายแรงกว่า และที่ทำให้เป็นไข้หวัดนก

ฟาร์มไก่เตอรกีสองแห่งที่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ค.ศ. 2009 อยู่ใกล้เมืองท่า Valparaiso ของชิลี

ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่า หมูในแคนาดา อาร์เจนทีน่า และออสเตรเลียติดเชื้อ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 นี้ด้วย แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยืนยันว่า รับประทานเนื้อหมูและเนื้อไก่เตอรกีได้ ไม่เป็นอันตราย เท่าที่ปรากฎ การจับต้องหรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัส H1N1 ไม่ทำให้เชื้อแพร่ไปได้

หัวหน้าสัตวแพทย์ Juan Lubroth ขององค์การอาหารและการเกษตรขององค์การสหประชาชาติ หรือ FAO ให้ความเห็นว่าจะพบเชื้อ H1N1 ระบาดในหมู่ปศุสัตว์มากขึ้น

เจ้าหน้าที่ของ FAO บอกว่า มักจะมีเชื้อไวรัส H1N1ในหมู่มนุษย์ สัตว์ปีก และหมูร่วมกัน เพราะฉะนั้นการค้นพบครั้งนี้ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจ

ทางการชิลีได้สั่งกักบริเวณสัตว์ปีกจากฟาร์มทั้งสองแห่งนี้แล้วเพื่อจำกัดการติดต่อระหว่างมุนษย์และสัตว์ป่ากับไก่เตอรกีที่ติดเชื้อ มีชาวชิลีอย่างน้อย 12,000 คนที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 และมีผู้เสียชีวิตที่ยืนยันได้ 128 คน

คำถามที่ทำให้วิตกกังวลกันในตอนนี้ ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเชื้อไวรัส H1N1 ซึ่งมีฤทธิ์น้อยแต่แพร่กระจายได้ง่าย ไปผสมกับเชื้อไวรัส H5N1 ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงแต่แพร่ตัวออกไปไม่ง่ายนัก

เชื้อ H5N1 หรือไข้หวัดนก ทำลายฟาร์มสัตว์ปีกมากมาย และทำให้คนเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 260 คน ในขณะที่ เชื้อ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ระบาดในหมู่สัตว์ปีก หมู และมนุษย์ ไม่รุนแรงเท่า

สัตวแพทย์ Juan Lubroth บอกว่ายังคาดไม่ได้ว่า ถ้าเชื้อไวรัสทั้งสองประเภทผสมเข้าด้วยกันแล้ว จะทำให้เชื้อพันธุ์ไวรัสมีฤทธิ์ร้ายแรงมากขึ้น หรือน้อยลง

แต่กล่าวแนะนำชาวไร่ชาวนาที่เลี้ยงสัตว์ต่างๆ รวมไว้ด้วยกันว่า จะลดโอกาสความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะผสมกันได้ โดยสวมเครื่องป้องกันเวลาเข้าใกล้สัตว์ที่ติดเชื้อ ไม่ขายสัตว์ที่ติดเชื้อจนกว่าสัตว์จะหายไข้เรียบร้อยแล้ว ไม่เข้าใกล้สัตว์ถ้าตนเองล้มป่วยลง และถ้าจะให้ดีแล้ว อย่าเลี้ยงสัตว์ต่างชนิดร่วมกัน

สัตวแพทย์ Juan Lubroth บอกว่าถ้าเอาไก่ ไก่เตอรกี หมู และมนุษย์มารวมไว้ในที่เดียวกัน โอกาสที่เชื้อไวรัสจะผสมกันเพิ่มมากขึ้น

ชาวไร่ชาวนานิยมเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตผลผลิตการเกษตร ทางออกอีกอย่างหนึ่งที่สัตวแพทย์ผู้นี้เสนอแนะคือ การจัดตั้งสหกรณ์ ที่สมาชิกต่างเลี้ยงสัตว์กันคนละชนิด เป็นการกระจายความเสี่ยงและร่วมการแบ่งปันผลกำไร



XS
SM
MD
LG