นักวิจัยเพาะเซลล์สำหรับใช้ซ่อมแซมเยื่อจอตาที่ชำรุดนั้น จากผิวหนังของคนเราได้สำเร็จ เป็นการเปิดช่องทางที่จะทำให้สายตาของผู้ป่วย ที่ถูกโรคร้ายบางชนิดทำให้บอดไปนั้นกลับมองเห็นขึ้นมาได้ใหม่
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เพาะเซลล์เยื่อจอตาจากเซลล์ผิวหนัง ซึ่งเป็นการพัฒนาการ ที่อาจสามารถนำมาใช้บำบัดโรคสายตาเสื่อมสภาพได้
ความผิดปกติทางพันธุกรรมส่วนหนึ่ง ทำให้เยื่อจอตาเสื่อมสภาพ ความผิดปกติดังกล่าวทำให้เซลล์ตายไป และทำให้สายตามืดมัวลงไปทีละน้อยจนกระทั่งบอดสนิท
นักวิจัยใช้กลวิธีที่ทำให้เซลล์ผิวหนัง ทำหน้าที่คล้ายกับเซลล์พื้นฐานของทารกตัวอ่อน ซึ่งสามารถทำให้งอกเป็นเนื้อเยื่อในร่างกายของคนเราได้ เรื่องที่ว่านี้ ชวนให้คิดว่าในวันหนึ่งข้างหน้า แพทย์อาจสามารถซ่อมแซมเยื่อจอตา โดยใช้เซลล์ใหม่ที่เพาะจากผิวหนังของผู้ป่วยเองได้ หัวหน้าคณะนักวิจัย ศาสตราจารย์ด้านจักษุวิทยาและวิทัศน์วิทยา เดวิด แกมม์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินกล่าวว่า การวิจัยของเขาสามารถเป็นประโยชน์ ต่อคนที่จุดภาพชัดของจักษุเสื่อมและโรคจอตามีสารสี โรคทั้งสองชนิดนี้ ทำให้สายตามองเห็นในวงแคบลงเรื่อยๆ และทำให้ตาบอดในท้ายที่สุด
ศาสตราจารย์ เดวิด แกมม์ กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "โรคเหล่านี้ ทำให้ผู้ที่เป็นเดือดร้อนแสนสาหัส เพราะทำให้สายตาของคนเรา เสื่อมสภาพอาจในตอนที่ยังมีอายุไม่มากในกรณีของโรคจอตามีสารสี หรือในยามที่มีอายุมากขึ้น ในกรณีของโรคจุดภาพชัดของจักษุเสื่อม ไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ และวิธีบำบัดรักษาก็มีน้อยมาก ดังนั้นวิธีรักษาให้หายจึงมีความจำเป็นมาก เมื่อมองในแง่ของโรคจุดภาพชัดของจักษุเสื่อมขณะที่ประชากรแก่ตัวลงไป"
กะประมาณกันว่า เฉพาะคนที่เป็นโรคจุดภาพชัดของจักษุเสื่อมในโลกนั้น มีจำนวนราวหนึ่งล้านคน
ศาสตราจารย์ เดวิด แกมม์ กล่าวว่าในแง่ของทฤษฎี เทคนิคเดียวกันนี้ อาจสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พบวิธีบำบัดรักษาโรค ที่เกี่ยวกับทางพันธุกรรมอื่นๆ ได้นอกเหนือจากการผิดปรกติของจักษุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่มีเชื้อพันธุ์ผิดปกติอยู่ในร่างกาย และผลิตเซลล์ชนิดที่หน้าสนใจ สำหรับโรคเหล่านั้น และนำเซลล์นั้น มาทดลองโดยตรงเพื่อดูประสิทธิภาพของยาต่างๆ หรือหาข้อเท็จจริงที่ว่า เซลล์ตายอย่างไรในการเป็นโรคเหล่านั้น
ผลของการวิจัย เกี่ยวกับการพัฒนาเซลล์จักษุนี้ลงพิมพ์อยู่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ในสัปดาห์นี้