ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์ชี้ ยาสูบไร้ควัน มีสารทำให้เกิดโรคมะเร็งมากกว่าที่คาดไว้


นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยศึกษาและหาหลักฐานมาชี้ให้เห็นถึงอันตราย ของการสูบบุหรี่นั้นมาหลายปีแล้ว ขณะนี้ นักเคมีได้ทำการวิเคราะห์ครั้งใหม่เกี่ยวกับยาสูบไร้ควัน และพบว่ายาสูบที่คนนำมาเคี้ยวนี้มีสารทำให้เกิดโรคมะเร็ง มากกว่าที่เคยคาดคิดกันมาก่อน

ขณะที่การเคี้ยวยาสูบ ไม่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่ปอดมากขึ้น แต่ผู้ที่เคี้ยวยาสูบเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งอย่างเช่นที่ลำคอ ปากและลิ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเคี้ยวยาสูบกำลังแพร่หลายออกไปในขณะที่ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนวิธีการใช้ยาสูบ ทั้งนี้เพราะสำคัญผิดคิดว่าการเคี้ยวยาสูบปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่

นักเคมีที่มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า อีรีนา สเตปานอฟกล่าวว่า นักวิจัยทราบว่าสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งจากการสูบบุหรี่นั้นมีชนิดไหนบ้าง แต่พวกเขาไม่ทราบเกี่ยวกับสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งทั้งหมดที่มีอยู่ในยาสูบไร้ควัน สารเคมีกลุ่มหนึ่งคือ Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือเรียกย่อๆว่า PAHs เป็นสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมากทีเดียว นักเคมี อีรีนา สเตปานอฟ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าสารดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างที่เส้นยาสูบในบุหรี่กำลังถูกเผาไหม้ และมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็ง

ที่ปอดของผู้สูบบุหรี่ นักเคมีผู้นั้นกล่าวด้วยว่า การใช้ยาสูบไร้ควันไม่เกี่ยวข้องกับการจุดยาสูบ จึงไม่มีคนสนใจทำการค้นคว้าเกี่ยวกับสาร PAH ในยาสูบไร้ควัน

แต่นักเคมี อีรีนา สเตปานอฟอยากรู้ว่าสารไฮโดรคาร์บอนเหล่านั้น มีอยู่ในยาสูบไร้ควันจริงไหมและมีอยู่กี่ชนิด? เธอนำยาสูบประเภทที่ใช้เคี้ยว ซึ่งครองตลาดยาสูบในสหรัฐไว้แปดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์มาวิเคราะห์และรู้สึกปลาดใจที่พบว่าสาร PAH ในยาสูบไร้ควันมีปริมาณมากทีเดียว

นักเคมี อีรีนา สเตปานอฟกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เมื่อมีการเตรียมยาสูบสำหรับทำเป็นยาสูบไร้ควัน เขาจะใช้กรรมวิธีที่เรียกว่าการรมไฟช่วย ตามกรรมวิธีที่ว่านี้ เขาเอายาสูบมารมบนกองฟืนที่ไฟลุกโชนและเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ากรรมวิธีนั้นทำให้เกิดสาร PAH เยอะทีเดียว ดังนั้น เราเห็นได้ชัดว่าตอนทำยาสูบไร้ควันนั้น ยาสูบมีสาร PAH ปนเปื้อนมาแล้ว"

นักเคมี อีรีนา สเตปานอฟ กล่าวว่างานขั้นต่อไปของเธอ ก็คือศึกษาเกี่ยวกับยาสูบไร้ควันชนิดต่างๆและนำมาเปรียบเทียบกันดูว่าชนิดไหนมีสาร PAH มากน้อยแค่ไหน

เธอนำผลงานวิจัยชิ้นนี้มาเสนอต่อที่ประชุม ของสมาคมเคมีภัณฑ์แห่งอเมริกาเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง

อนึ่ง รายงานที่โพสท์ใน เวบไซต์ bmj.com ระบุว่า คณะนักวิจัยซึ่งมีนายแพทย์ เปาโล บอฟเฟตตา แห่งสำนักการวิจัยระหว่างประเทศเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศสพบว่า ในหมู่ผู้ใช้ยาสูบไร้ควันนั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกำเริบ มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้ ในหมู่ผู้ที่เกิดอาการหัวใจกำเริบนั้นเกิดจากยาสูบไร้ควันเสีย 0.5 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐและ 5.6 เปอร์เซ็นต์ในสวีเดน นอกจากนี้ยาสูบไร้ควันยังเป็นสาเหตุให้คนเสียชีวิต ด้วยอาการเส้นเลือดหัวใจและสมองอุดตัน 1.7 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐและ 5.4 เปอร์เซ็นต์ในสวีเดนด้วย



XS
SM
MD
LG