ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์พัฒนาฮอร์โมนธรรมชาติ เพื่อลดการเจริญอาหาร สำหรับคนเป็นโรคอ้วน


คนน้ำหนักตัวเกินขนาดหรือเป็นโรคอ้วน [Obesity] กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ขนาดที่องค์การอนามัยโลกมีคำจำกัดความให้ว่า "Globesity" อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาค้นคว้าล่าสุดบ่งชี้ว่า สักวันหนึ่งอาจจะมีช่องทางป้องกันโรคนี้ได้ และยังอาจช่วยบำบัดโรคเบาหวานไปพร้อมกันได้ด้วย

การที่มีคนอ้วนมากๆ มากขึ้นทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมด้านการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายมีความรุ่งเรือง คนทั่วโลกใช้เงินรวมกันแล้วมากกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับค่ายา อาหาร และรายการต่างๆ ในการลดน้ำหนัก คาดว่าตลาดการควบคุมน้ำหนักทั่วโลกจะคิดเป็นมูลค่าราว 586,000 ล้านดอลล่าร์ภายในปี 2557

ในสหรัฐ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรครายงานว่า คนอเมริกันในวัยผู้ใหญ่น้ำหนักตัวเกินขนาดหรือเป็นโรคอ้วนราว 2 ใน 3 และเด็กเป็นราว 1 ใน 5

แพทย์หญิง แอนน์ ชูคกิต แห่งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ กล่าวว่าโรคอ้วนเป็นโรคระบาดแอบแฝงโรคหนึ่ง ในเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา จำนวนคนน้ำหนักตัวเกินขนาดในอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพยายามหาวิธีให้ประชาชน ออกกำลังกายมากขึ้น และรับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะอย่างสม่ำเสมอ คนอ้วนบางคนแก้ปัญหาโดยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร เพื่อลดปริมาณอาหารที่กระเพาะรับได้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Indiana และ Cincinnati บอกว่า อาจมีวิธีแก้ปัญหาโดยที่ไม่ต้องเจ็บตัวถึงขนาดนั้น

วิธีที่ว่านั้นคือ การใช้ยาที่รวมฮอร์โมนธรรมชาติ 2 ชนิดในการลดการเจริญอาหาร และเพิ่มการเผาผลาญอาหารของร่างกาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทดลองได้ผลในหนูทดลอง

Dr. Richard Dimarchi อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Indiana กล่าวว่าหนูทดลองเหล่านั้น ถูกเลี้ยงโดยให้กินอาหารมากเกินความต้องการ จนตัวอ้วนน้ำหนักเพิ่มขึ้น 2 เท่าของระดับปกติ แล้วฉีดยาซึ่งรวมฮอร์โมน 2 ชนิดให้เพียงครั้งเดียว หนูเหล่านั้นน้ำหนักตัวลดลงราว 25 %

Dr. Richard Dimarchi อธิบายว่า นักวิทยาศาสตร์มุ่งหาวิธีบำบัด ที่มีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก แล้วสามารถบำบัดโรคเบาหวานได้ด้วย

ฮอร์โมน 2 ชนิดคือ Byetta และ Glucagon มีอยู่แล้วในตัวยา 2 อย่างที่ใช้ในการบำบัดโรคเบาหวาน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ขั้นต่อไปคือการทดลองยาผสมนี้กับคน แต่เตือนว่าจะต้องทำในระดับที่ช้ากว่าระดับที่ทดลองได้ผลในหนูทดลอง และเตือนด้วยว่า ยาต่างๆ ที่มีท่าทางว่าจะได้ผลดีในการทดลองกับหนู แต่เวลานำมาทดลองกับคน กลับไม่ได้ผลก็มี


XS
SM
MD
LG