ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ มองเรื่องความแตกแยกในหมู่ผู้นำของอิหร่าน


ถึงแม้การประท้วงตามท้องถนนในอิหร่าน ดูจะสงบเงียบลง จากการปราบปรามอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ทางการอิหร่าน แต่นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ หลายคนซึ่งไปแถลงให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯ เชื่อว่าขณะนี้มีความแตกแยกในหมู่ผู้นำระดับสูงของอิหร่านอย่างลึกๆ ในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีการโจมตีต่อภาวะผู้นำ และท้าทายอำนาจของผู้นำสูงสุดทางศาสนาของอิหร่านโดยตรง

แต่ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเรื่องอิหร่าน ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชี้ว่า ฝ่ายค้านของอิหร่านเองก็แตกกัน โดยส่วนหนึ่งสนับสนุนนายราฟซานจานี อดีตประธานาธิบดีอิหร่านผู้มีแนวทางสายกลาง ในขณะที่สมาชิกกลุ่มฝ่ายค้านคนอื่นๆ สนับสนุนนายมูซาวี ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้ และพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อประธานาธิบดีอามาห์ดีนีจ๊าด ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน โดยกลุ่มนายมูซาวีต้องการให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 1979 ซึ่งจำกัดอำนาจหรือบทบาทพิเศษ ของคณะผู้นำสูงสุดทางศาสนาของอิหร่านกลับมาใช้ ส่วนนักวิเคระห์ของสถาบัน Carnegie Endowment for International Peace มองว่าดุลย์แห่งอำนาจขณะนี้อยู่ในมือของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน หรือ Revolutionary Guard ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1979 โดยอยาโตลาห์ โคเมนี อดีตผู้นำสูงสุดของอิหร่านผู้ไม่ไว้ใจในกองทัพ กองกำลังนี้มีสมาชิกราว 120,000 คนและผู้บังคับบัญชาระดับสูงต่างได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากอยาโตลาห์ คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านคนปัจจุบัน และถึงแม้จะยังไม่มีสัญญาณที่แสดงว่าอยาโตลาห์ คาเมนีจะสูญเสียการจงรักภักดี จากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านนี้ไปก็ตาม แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้น ก็จะส่งผลทางการเมืองอย่างร้ายแรงต่อทั้งอยาโตลาห์ คาเมนี และประธานาธิบดีอามาห์ดีนีจ๊าด ผู้จะทำพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ อย่างแน่นอน

รับฟังรายละเอียดเพิ่มเติมจากคุณจำเริญ ตัณฑ์สมบุญ

XS
SM
MD
LG