รายงานล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ร่างกายของคนเรา สามารถเปล่งแสงที่มองเห็นได้ออกมาในแต่ละวัน แม้จะมีปริมาณหรือความสว่างน้อยมาก แสงที่ร่างกายมนุษย์เปล่งออกมานี้จะมีประโยชน์ในด้านไหน?
รายงานการวิจัยจากญี่ปุ่น ที่เผยแพร่อยู่ทางเว็บไซต์ Livescience.com และมีรายละเอียดอยู่ในวารสารออนไลน์ PLoS ONE ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคมระบุว่า ในแต่ละวันร่างกายมนุษย์ จะเปล่งแสงจางๆ ออกมา ในระดับที่สามารถมองเห็นได้
งานวิจัยก่อนหน้านี้เคยค้นพบว่า แสงที่ร่างกายคนปล่อยออกมานั้น มีความเข้มน้อยกว่าระดับที่ตาเปล่าสามารถมองเห็นได้ถึง 1000 เท่า โดยร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะปล่อยแสงอ่อนๆ ออกมา ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลที่เกิดจากปฏิกิริยาทางชีวเคมี ที่เกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระในร่างกาย แสงที่มองเห็นได้นี้ จะแตกต่างจากรังสีอินฟราเรด หรือรังสีที่เกิดจากพลังงานความร้อนในร่างกาย
เพื่อที่จะศึกษาเกี่ยวกับแสงจางๆ ที่สามารถมองเห็นได้นี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ญี่ปุ่นใช้กล้องถ่ายรูปความไวสูงพิเศษ ซึ่งสามารถตรวจจับโฟตอนแต่ละตัวมาใช้ประกอบการวิจัย จากนั้นให้อาสาสมัครผู้ชายวัย 20 กว่าปีร่างกายกำยำล่ำสัน 5 คน ถอดเสื้อกึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่หน้ากล้อง ในห้องที่มืดทึบเป็นเวลา 20 นาที โดยจะทำการทดลองนี้ทุก 3 ชั่วโมงตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่ม เป็นเวลา 3 วันเต็ม ผลปรากฎว่า แสงที่ร่างกายเปล่งออก มีระดับความเข้มข้นของแสงแตกต่างกันไป ในแต่ละช่วงเวลา คือจะมีปริมาณน้อยที่สุดเมื่อตอน 10 โมงเช้า และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดตอน 4 โมงเย็น หลังจากนั้นก็จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ตอนกลางคืน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การปล่อยแสงมีความสัมพันธ์กับเวลาในร่างกายคน และเกี่ยวโยงถึงกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละวัน
การทดลองพบว่า ส่วนที่เรืองแสงที่สุดในร่างกายมนุษย์คือใบหน้า ซึ่งอาจเป็นเพราะใบหน้าคือส่วนที่เปิดรับแสงแดดมากที่สุด จึงมีสีคล้ำมากกว่าส่วนอื่นๆ และรงควัตถุใต้ชั้นผิวหนังหรือเมลานีน มีส่วนประกอบที่เรืองแสง ซึ่งช่วยในการผลิตแสงปริมาณน้อยๆ ในร่างกายได้ และเนื่องจากแสงจางๆ ที่ร่างกายเปล่งออกมา ทีความเกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญอาหาร นักวิจัยฮิโตชิ โอกามูระแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตจึงเชื่อว่า การใช้กล้องที่สามารถตรวจจับระดับการเปล่งแสงของร่างกาย ก็จะช่วยให้ทราบถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายในขณะนั้น ได้เช่นกัน