ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Hillary Clinton เริ่มเจรจากับเจ้าหน้าที่อินเดีย เกี่ยวกับการดำเนินงานกับภาวะโลกร้อน


ความแตกต่างระหว่างสหรัฐกับอินเดีย ในการดำเนินงานกับภาวะโลกร้อนปรากฏชัดเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ Hillary Clinton เริ่มการเจรจากับเจ้าหน้าที่อินเดียที่กรุงนิวเดลลีในวันอาทิตย์

รัฐมนตรีว่าการด้านสิ่งแวดล้อมของอินเดียกล่าวว่า อินเดียไม่อาจยอมรับข้อผูกพันในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อเสนอสนธิสัญญา ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้

รัฐบาลของประเทศทั้งสหรัฐและอินเดียกล่าวว่า ต้องการจะให้มีความตกลงออกมาจากการประชุมเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่จะมีขึ้นที่กรุงโคเป็นฮาเก็นในธันวาคม แต่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของประเทศทั้งสอง ภายหลังการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้เห็นความแตกต่างที่มีอยู่มาก ระหว่างบรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำกับประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ อย่างอินเดีย เกี่ยวกับการดำเนินงานรับมือกับปัญหานี้

รัฐบาลชุดประธานาธิบดีบารัค โอบามา สนับสนุนให้บรรดาประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเด็ดขาด และต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนา ที่เศรษกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างอินเดีย และจีนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากด้วย โดยที่จะต้องมีข้อผูกพันในเรื่องเป้าหมาย

แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ชัยราม ราเมศ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลอินเดียจะมีพันธกรณีในเรื่องพลังงานสะอาด แต่ก็ไม่สามารถยอมรับข้อผูกพันเรื่องเป้าหมาย เฉพาะเจาะจงในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และว่าท่าทีข้อยึดมั่นของอินเดียก็คือ อินเดียไม่อยู่ในฐานะที่จะมีข้อผูกพันทางกฏหมายในเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่ว่าอินเดียจะไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น

ทูตพิเศษของสหรัฐด้านสภาพภูมิอากาศ Todd Stern กล่าวว่า 80 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น มาจากบรรดาเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว อย่างของอินเดียและของจีน และว่าจะต้องมีการพยายามหาช่องทาง ในการพัฒนาโดยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับต่ำ

แต่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ออกคำแถลงภายหลังการพบเจรจากับคณะเจ้าหน้าที่สหรัฐว่า แม้เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวในระดับที่เป็นอยู่ไปอีก 10-20 ปีต่อไป แต่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชาชนรายหัว ก็ยังจะต่ำกว่าของในประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วนรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐ Hillary Clinton กล่าวว่า การพบเจรจาครั้งนี้ก่อประโยชน์ และว่ายังมีอีกหลายด้านที่มีความเห็นพ้องกันมากกว่าความขัดแย้ง และแสดงความเชื่อมั่นว่า จะสามารถบรรลุยุทธวิธีบางอย่าง ในการขบแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ก่อนจะมีการประชุมที่กรุงโคเป็นฮาเก็น รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐเชื่อว่าความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอินเดียเป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ไม่ช่เฉพาะของอินเดียเท่านั้น และการแก้ปัญหาความยากจนและให้เด็กทุกคนในอินเดียมีโอกาสช่องทางในชีวิตนั้น ก็เป็นเป้าหมายที่ประเทศทั้งสองต้องการร่วมกัน แต่ก็สหรัฐเชื่อด้วยว่า มีช่องทางสำหรับการพัฒนาวิธีการแก้ปัญหา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย

รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐ Hillary Clinton กล่าวว่าบรรดาประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ตัวแล้วเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณมากกว่าประเทศอื่น และควรรับภาระมากกว่าในการทำความสะอาดสิ่งแวด และว่าประธานานาธิบดีโอบามาก็กำลังดำเนินการในเรื่องนี้


XS
SM
MD
LG