ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเทศไทย พยายามหาทางยุติการก่อความไม่สงบ ของชาวมุสลิมในภาคใต้


ประเทศไทยกำลังขวนขวาย ในอันที่จะทำให้การก่อความไม่สงบของชาวมุสลิมในภาคใต้ยุติลง การก่อความไม่สงบ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 คร่าชีวิตคนไปแล้วสามพันสี่ร้อยกว่าราย

รัฐบาลไทยมีแผนจะแก้ไขเรื่องนี้ โดยให้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น และให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนา แต่นักวิเคราะห์ทางการเมืองกล่าวว่า ควรจะพุ่งความสนใจไปที่เรื่องการสลายความไม่พอใจต่างๆ ที่มีมานานแล้วในหมู่ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู

การยิงกัน การวางระเบิด และการตัดศีรษะคนเป็นเรื่องที่เกิดอยู่เป็นประจำเสียจนไม่เป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อีกแล้ว

แต่การสังหารหมู่อย่างโหดร้ายทารุณที่สุเหร่าแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนราธิวาสในเดือนนี้ทำให้เกิดความเป็นห่วงถึงเรื่องการก่อเหตุรุนแรง ระหว่างคนต่างศาสนากันขึ้นมาใหม่

ทางการไทยกล่าวว่า ผู้ก่อความไม่สงบผู้สวมหน้ากากปิดใบหน้ายิงผู้มาทำละหมาดเสียชีวิต 11 ราย เพื่อพยายามสร้างความร้าวฉานในหมู่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู และชาวไทยพุทธในภาคใต้

พวกชาวไทยมุสลิมกล่าวหาว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงไทยอยู่เบื้องหลังการยิงผู้คนเหล่านั้น

ความสงสัย และการฆ่าล้างแค้นที่เกิดตามมา เน้นให้เห็นถึงความแตกแยกอย่างรุนแรงในภาคใต้

คุณ สุนัย ผาสุข นักวิจัยแห่งองค์กร Human Rights Watch ที่ประเทศไทยกล่าวว่าการสังหารคนที่สุเหร่าแห่งนั้น สอดคล้องกับแบบแผนด้านการแก้เผ็ดตอบโต้ของบุคลากรผู้ไม่คำนึงถึงศีลธรรม หรือกฎหมายภายในกองกำลังรักษาความมั่นคงไทย

คุณสุนัยกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "การยิงคนที่สุเหร่าในจังหวัดนราธิวาส ไม่ใช่เป็นการโจมตีสุเหร่าของชาวไทยมุสลิมครั้งแรก เคยเกิดเรื่องแบบนั้นมาแล้วอย่างน้อยสิบครั้ง แต่ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 มาจนถึงขณะนี้ ทางการไทยไม่เคยทำการสืบสวนสอบสวนกรณีเหล่านั้นอย่างเหมาะสมเลย ไม่มีการออกหมายจับ และพวกมือปืนที่ประกอบอาชญากรรมฆ่าคนเหล่านั้นยังคงลอยนวล และคนเหล่านี้ประกอบอาชญากรรมแบบเดียวกันนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า"

กฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อปีพุทธศักราช 2548 ให้อำนาจแก่กองกำลังรักษาความมั่นคงไทยในอันที่จะควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยไม่มีการตั้งข้อหาไว้ได้นานถึงหนึ่งเดือนโดยไม้ต้องกลัวว่าจะโดนฟ้องร้องดำเนินคดี

กลุ่มต่อสู้ในเรื่องสิทธิต่างๆ กล่าวว่าบุคลากรของกองกำลังรักษาความมั่นคง ใช้อำนาจในทางที่ผิด ใช้วิธีทรมาน และการฆ่าตัดตอนในการเพียรพยายามกำจัดผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ และว่าการใช้อำนาจในทางที่ผิดดังกล่าว รังแต่จะทำให้เกิดความไม่สงบและทำให้ราษฎรในท้องถิ่นเอาใจออกหาก

แต่พันเอก ปริญญา ชัยดิลก โฆษกคนหนึ่งของฝ่ายทหารไทย ปฏิเสธเสียงกล่าวหาเหล่านั้นและกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เรามั่นใจว่าทหารไทยในภาคใต้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ และเราทำให้ประชาชนมั่นใจว่าเราจะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง และปลอดภัย"

ในภาคใต้นั้น มีกำลังทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครด้านการป้องกันพลเรือนประจำการอยู่ 40,000 กว่านาย รัฐบาลไทยกล่าวว่า จะส่งกำลังไปเสริมอีกหลายพันนาย เพื่อพยายามควบคุมความรุนแรง

รัฐบาลไทยมีแผนจะลงทุนเป็นจำนวนมาก สำหรับโครงการพัฒนาในภาคใต้ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อที่จะเอาชะนะใจของประชาชนในภาคใต้

ส่วนโฆษกของรัฐบาลไทย คุณปณิธาน วัฒนายากรกล่าวว่า การโจมตีที่เกิดบ่อยขึ้นนี้ไม่ใช่เป็นแนวโน้ม แต่อาจเป็นการตอบโต้ของพวกก่อความไม่สงบ ต่อการปฏิบัติการรักษาความมั่นคงที่ได้ผลดีและการที่ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยพุทธร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น

โฆษกรัฐบาลไทย คุณปณิธานกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เมื่อดูสถิติโดยรวมของปีนี้ เหตุร้ายลดลงไปเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตลดลงไปเกือบ 35 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นสถิติที่หน่วยงานส่วนมากทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนยอมรับ แต่แน่นอนละ ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญบางแห่งเกิดอาชญากรรมร้ายแรงมากขึ้นตามชุมชนบางแห่ง"

คิดกันว่าชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธนั้นเป็นผู้โจมตีส่วนใหญ่

บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองกล่าวว่า ผู้ก่อความไม่สงบทางภาคใต้มิได้เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศโดยตรง แต่ยืมกลยุทธ์ของกลุ่มเหล่านั้นมาใช้อย่างเช่นการตัดศีรษะ และการมุ่งเล่นงานเกษตรกร ครู พระสงฆ์ และชาวมุสลิมที่สงสัยว่าให้ความร่วมมือกับทางการ

รายงานของกลุ่มวิกฤติกาลระหว่างประเทศ ที่นำออกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ระบุว่าครูบางส่วนของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามบางแห่ง ใช้คำขวัญที่นิยมใช้กันคือ สงครามศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม เป็นเครื่องมือในการชักชวนคนมาเป็นผู้ก่อความไม่สงบ

แต่นักวิเคราะห์ของกลุ่มวิกฤติกาล ระหว่างประเทศประจำประเทศไทย คุณ รุ่งรวี เฉลิมศรีปริญโยรัตน์กล่าวว่า โรงเรียนหลายแห่งไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับการชักชวนคนมาเป็นผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว และว่าความพยายามที่จะจูงใจให้เกิดความรักชาติไทยในหมู่ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูนั้นยังผลให้มีการมองข้ามเอกลักษณ์และภาษาของพวกเขาไป เขากล่าวด้วยว่า ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูทางภาคใต้ยังมีส่วนร่วมน้อยเกินควร ในด้านการเมืองและการทำราชการ และว่ารัฐบาลจะต้องแก้ไขความไม่เสมอภาคเหล่านี้ให้หมดไป ถ้าต้องการเห็นความสงบสุขที่ยั่งยืน เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นเครื่องส่งเสริม ให้มีการชักชวนคนมาร่วมก่อความไม่สงบกันต่อไปเป็นระลอก


XS
SM
MD
LG