ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง เพื่อแก้ไขอาการสั่นเทาของโรคพาคินสัน


มีการคาดประมาณว่า มีผู้คนทั่วโลกราว 4 ล้านถึง 6 ล้านคน ที่ต้องทุกข์ทรมานด้วยโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่เรียกว่า "โรคพาคินสัน"

ในขณะที่ยังไม่มีวิธีรักษา แต่ผู้ป่วยบางคนได้รับการผ่าตัดที่เรียกว่า "Deep Brain Stimulation" หรือการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง

การที่ร่างกายสั่นเทา เป็นอาการที่เด่นชัดที่สุดของโรคพาคินสัน ดังนั้นการถือแก้วน้ำไม่ให้กระฉอก หรือการอ่านหนังสือพิมพ์นั้น อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ นอกจากนี้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นอาการของโรคพาคินสันอีกด้วย

คุณริชาร์ด ซีเจอร์ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาคินสันเมื่อปี 2534 เขาจำได้ว่าเขาพยายามที่จะเดิน หรือลุกจากเก้าอี้อย่างลำบากยากเย็น

คุณริชาร์ดเล่าวว่า เขาไม่สามารถลุกจากเก้าอี้ได้ เขาได้แต่กระเด้งไป กระเด้งมา จนในที่สุด ขาทั้งสองข้าง และหัวเข่าของเขาล็อกติดกับเก้าอี้

คุณริชาร์ดเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคพาคินสัน 255 คน ที่เข้าร่วมการศึกษา ซึ่งเปรียบเทียบวิธีการรักษาโรคพาคินสัน 2 แบบ ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งจะได้รับการรักษาด้วยการให้ยา และทำกายภาพบำบัดแบบมาตรฐาน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่สองต้องเข้ารับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง

ในระหว่างการผ่าตัด แพทย์จะนำขั้วไฟฟ้าไปใส่ไว้ในส่วนหนึ่งของสมอง ซึ่งจะไปกระตุ้นการเคลื่อนไหวที่มากเกินไป ขั้วไฟฟ้าดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ ที่ฝังไว้ในหน้าอก อุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งสัญญาณออกมา เพื่อกำจัดอาการสั่นเทา และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

คุณริชาร์ดกล่าวว่า ความแตกต่างนั้น สามารถสังเกตเห็นได้ทันที และว่า เมื่อแพทย์เปิดอุปกรณ์ที่อยู่ในทรวงอกของเขา เขาก็สามารถเดินไปทั่ว โดยที่ไม่มีอาการสั่นเทา

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอื่นๆ เกี่ยวกับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองด้วย การศึกษาพบว่า หลังจากเข้ารับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองได้ 6 เดือน การทำงานของกล้ามเนื้อของผู้ป่วย เหล่านั้นพัฒนาขึ้นถึง 4 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาแบบมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายคนพบอาการอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ในอัตราสูงทีเดียว

แพทย์หญิงฟรานซิส เวฟเวอร์ แห่งโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ที่เมืองไฮนส์ รัฐอิลลินอยส์ กล่าวว่า ผู้ป่วยควรจะศึกษาให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด

แพทย์หญิงฟรานซิสบอกว่า ผู้ป่วยแต่ละคน ควรจะชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ และความเสี่ยง ของการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมอง แต่การที่เป็นคนชรา และเป็นโรคพาคินสัน อาจจะไม่ใช่ผู้ที่เหมาะจะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้เสมอไป

สมาคมศัลยแพทย์ระบบประสาทแห่งอเมริการายงานว่า มีการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองให้ผู้ป่วยไปแล้ว กว่า 35,000 รายทั่วโลก

การศึกษานี้ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารสมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา และได้รับทุนส่วนหนึ่งจาก Medtronic บริษัทผู้ผลิตเครื่องกระตุ้นสมอง


XS
SM
MD
LG