จนท.จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์ตะวันออกและปาปัวนิวกีนี ได้บรรลุข้อตกลงจัดทำแผนปกป้องสามเหลี่ยมป่าปะการังใต้มหาสมุทร ที่มีอาณาบริเวณถึง 5 ล้าน 5 แสนตารางกิโลเมตรและเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของชีวภาพทางทะเลมากที่สุด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสามเหลี่ยมป่าปะการังนี้ อาจจะมีความหลากหลายของสัตว์น้ำพอๆ กับป่าอะเมซอนในประเทศบราซิลเลยทีเดียว
พื้นที่ทางทะเลระหว่างอินโดนีเซีย กับหมู่เกาะโซโลม่อนคือที่ตั้งของสามเหลี่ยมป่าปะการัง ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์สัตว์น้ำแ ละพืชใต้ทะเลมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปะการัง 3 ใน 4 ของโลก พันธุ์ปลา 1 ใน 3 ของโลก ตลอดจนป่าไม้โกงกางราวครึ่งหนึ่ง ของที่มีอยู่ทั้งหมด ล้วนเป็นระบบนิเวศน์ทางทะเลที่มีค่า และน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง คุณ Nancy Knowlton ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวิตสัตว์น้ำแห่งสถาบัน Smithsonian ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่ามนุษย์จะไม่สามารถอาศัยอยู่บนโลกได้ หากขาดพื้นที่สามเหลี่ยมป่าปะการัง ที่มีความหลากหลายของชีวภาพทางทะเลมากที่สุดแห่งนี้
คุณ Knowlton บอกว่าหากจำเป็นต้องปกป้องพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ของมหาสมุทร สามเหลี่ยมป่าปะการังนี้คือส่วนที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณนี้สามารถขยายพันธุ์ออกไนในพื้นที่อื่นๆ เช่นแนวปะการังยักษ์ในออสเตรเลียหรือชายฝั่งญี่ปุ่น หรืออาจไปไกลถึงมหาสมุทรแปซิฟิก จึงอาจกล่าวได้ว่าสามเหลี่ยมป่าปะการัง คือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญนั่นเอง
บริเวณใจกลางของสามเหลี่ยมป่าปะการัง คือเขตอุทยานแห่งชาติ Bunaken ทางเหนือของอินโดนีเซีย ลึกลงไปใต้ทะเลคือแนวปะการังหลากสีสวยสดสุดลูกหูลูกตา อุทยานแห่งชาตินี้คือแหล่งอาหารทางทะเลของประชากร ที่อาศัยอยู่รอบๆพื้นที่สามเหลี่ยมป่าปะการังมากกว่า 1 ร้อยล้านคนและผู้คนในส่วนอื่นๆ ของโลก
คุณ David McCauley ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศโลก จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ระบุว่าพื้นที่สามเหลี่ยมป่าปะการังนี้กำลังอยู่ในอันตราย ทั้งจากน้ำมือมนุษย์เช่นน มลพิษ การพัฒนาที่ดินและการประมงที่มากเกินไป รวมทั้งภัยคุกคามทางธรรมชาติ เช่นปรากฎการณ์เอลนินโญ่ที่ทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น
คุณ McCauley เล่าว่าปรากฎการณ์เอลนินโญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลลบริเวณนี้สูงขึ้นมาก จนกัดสีของปะการังบางส่วนให้ซีดจางลง และกำลังมีความกังวลว่าปรากฎการณ์เอลนินโญ่ครั้งหน้า จะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม แต่ในระยะยาวนั้น ค่อนข้างมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลว่าจ ะส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างไร
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรสิ่งแวดล้อม WWF เปิดเผยรายงานว่า หากยังไม่มีการเร่งจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศโลก สามเหลี่ยมป่าปะการังอาจถูกทำลายจนหมดสิ้น และจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อโลก ในขณะที่คุณ Nancy Knowlton แห่งสถาบัน Smithsonian กล่าวว่า เวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว สำหรับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
คุณ Knowlton บอกว่า ตัวเธอเองไม่ต้องการเห็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพราว 1 ใน 4 ของโลก ซึ่งเทียบได้กับการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ ครั้งที่ 6 หลังจากโลกนี้เคยผ่านการสูญพันธ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตมาแล้ว 5 ครั้งในอดีต และว่านั่นเป็นความรับผิดชอบครั้งสำคัญที่มนุษยชาติต้องแบกรับ
แม้จะมีข้อตกลง จัดทำแผนปกป้องสามเหลี่ยมป่าปะการังระหว่างประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์ตะวันออกและปาปัวนิวกีนี ไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ก้าวแรกเท่านั้น สำหรับก้าวต่อไปคือการบรรลุข้อตกลง เรื่องการลดปริมาณก๊าซที่ก่อให่เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก ในการประชุมที่กรุงโคเปนโฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคม