เวลานี้องค์กรดูแลตรวจสอบทางทะเลของสหประชาชาติ กำลังปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการรื้อทำลาย และการหมุนเวียนนำชิ้นส่วนของเรือเดินสมุทรเก่าๆ กลับมาใช้ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านความปลอดภัย
ที่ผ่านมานั้น วิธีที่ง่าย และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดในการรื้อทำลายเรือเดินสมุทรที่เก่าแล้ว ก็คือการนำเรือลำนั้นมาเกยตื้นตามชายหาด จากนั้นจึงให้คนงานเข้าไปรื้อแผ่นเหล็กและวัสดุอื่นๆ ทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วนำไปขายเป็นขยะหรือของเก่า วิธีนี้นิยมใช้กันมากในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน และกำลังเริ่มใช้กันในประเทศจีนและตุรกี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตของผู้ที่เข้าไปรื้อทำลายเรือลำนั้น
คุณ Rizwana Hasan ทนายความ และที่ปรึกษาของสมาคมทนายความด้านสิ่งแวดล้อมบังกลาเทศระบุว่า การนำเรือเก่ามาเกยตื้นส่งผลให้แนวชายฝั่งปนเปื้อนด้วยขยะเป็นพิษ คนงานที่เข้าไปรื้อเรือเก่าหลายคนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคุณ Hasan เรียกวิธีการแบบนี้ว่า วิกฤตของการบริหารจัดการแบบผิดๆ
นักกฎหมายผู้นี้บอกว่า เป็นความผิดของเจ้าของเรือที่ยังคงปล่อยให้การกระทำที่น่าประณามเช่นนี้เกิดขึ้น ภายใต้คำว่าผลประโยชน์หรือผลกำไรเท่านั้น
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ตัวแทนจาก 63 ประเทศซึ่งร่วมประชุมในฮ่องกง มีมติรับรองกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ ที่จะใช้ควบคุมอุตสาหกรรมการรื้อทำลาย และการหมุนเวียนนำชิ้นส่วนของเรือเดินสมุทรเก่าๆ กลับมาใช้ใหม่ โดยจะควบคุมตั้งแต่การสร้างเรือ การจำกัดปริมาณการใช้วัสดุที่เป็นอันตราย และให้เรือต่างๆ ลงบันทึกการใช้วัสดุอันตรายในการซ่อมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนนกำหนดมาตรฐานของการรื้อทำลายเรือเดินสมุทร เช่น ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยข้อตกลงใหม่กำหนดให้คนงานที่เข้าไปทำการรื้อทำลายเรือ ต้องสวมชุดและหน้ากากป้องกัน และกำหนดให้มีการกำจัดขยะที่เป็นพิษ รวมทั้งเตรียมมาตรการรับมือภาวะฉุกเฉินด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณ Jim Puckett ผอ.บริหารขององค์กร Basel Action Network ในสหรัฐ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงนี้คือความล้มเหลว เพราะไม่มีการกำหนดให้คนงานต้องผ่านการฝึกอบรมพิเศษเพื่อแยกขยะอันตราย และไม่มีข้อกำหนดห้ามเรือเก่าเกยตื้นแต่อย่างใด ดังนั้น สิ่งที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ พยายามกระทำในเวลานี้ก็คือ การกดดันให้บริษัทเรือขนส่งต่างๆ รวมทั้งบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นลูกค้าของบริษัทขนส่งเหล่านั้น ไม่ยอมรับกับวิธีการนำเรือเก่ามาเกยตื้นเพื่อรื้อทำลาย
ประเมินว่าในแต่ละปี มีเรือเก่าที่ชำรุดเสียหายราว 1 พันลำทั่วโลก และในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยเช่นนี้ คาดว่าจะมีเรือที่รอการซ่อมแซมหรือรื้อทำลายมากขึ้น เนื่องจากมีสินค้าให้ขนส่งน้อยลงนั่นเอง