ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef ในออสเตรเลีย เริ่มซ่อมแซมตัวเองบ้างแล้ว


แม้ช่วงหลังๆ จะมีคำทำนายมากมายเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนว่า จะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef ในออสเตรเลียอย่างรุนแรง แต่ล่าสุดนักวิจัยพบว่า แนวปะการังบางส่วนที่ถูกทำลายอย่างหนัก ได้เริ่มซ่อมแซมตัวเองบ้างแล้ว

แนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดจุดหนึ่งของออสเตรเลีย แนวปะการังยักษ์นี้มีขนาดใหญ่กว่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะ ทอดยาวอยู่ตามแนวชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย เป็นระยะทางมากกว่า 2,500 กิโลเมตร และเป็นโครงสร้างสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากอวกาศ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่าแนวปะการังยักษ์นี้ กำลังเผชิญกับอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจกัดสีปะการังให้ซีดจางลง และทำให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณแนวปะการังยักษ์ค่อยๆมีจำนวนลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดยังมีข่าวดีอยู่บ้าง เมื่อการสำรวจครั้งใหม่ที่ส่วนใต้สุดของแนวปะการังพบว่า ปะการังบริเวณเกาะ Keppel นอกชายฝั่งรัฐ Queenland ซึ่งสีซีดจางลงไปตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว และถูกสาหร่ายปกคลุมหนาแน่น กำลังเริ่มซ่อมแซมตัวเองบ้างแล้ว โดยคุณ Laurence McCook จากเขตรักษาพันธ์สัตว์น้ำ Great Barrier Reef อธิบายว่า การที่สาหร่ายหนาทึบที่ปกคลุมปะการังอยู่นั้น ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว คือปัจจัยที่ช่วยให้ปะการังเริ่มฟื้นตัว

คุณ McCook บอกว่า ปะการังที่ถูกทำลายนั้นเริ่มซ่อมแซมตัวเอง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อที่รอดชีวิตอยู่ได้เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง และปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือการใช้มาตรการควบคุมมลพิษในทะเล ด้วยการเพิ่มความเข้มงวด ในการจับปลาและควบคุมการปล่อยเศษปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจากพื้นที่การเกษตรลงสู่ทะเล ซึ่งช่วยให้น้ำทะเลสะอาดขึ้น


บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างพากันแปลกใจที่แนวปะการังยักษ์นี้ สามารถฟื้นตัวจากการถูกน้ำทะเลกัดสีอย่างรุนแรงได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม Great Barrier Reef ยังคงต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายประการ เช่นเดียวกับแนวปะการังขนาดใหญ่อื่นๆ ในโลก


XS
SM
MD
LG