ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชีย ปรับเปลี่ยนกฏหมายต่อต้านยาเสพติดของตน


องค์การสหประชาชาติ กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ปรับเปลี่ยนกฎหมายต่อต้านยาเสพติดของตน เพื่อเปิดโอกาสให้นำมาตรการ และนโยบายในเรื่องยาบำบัดรักษาโรคเอดส์ ที่เป็นทางเลือกมาใช้ได้ในความพยายาม ที่จะจำกัดการแพร่กระจายโรคเอดส์

สหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียพิจารณาแก้ไขกฎหมายเรื่องยาเสพติด เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อผู้ติดยาเสพติดที่เป็นเอดส์ ในฐานะที่เป็นคนไข้มิใช่อาชญากร คำเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นในที่ประชุมระดับภูมิภาคของโครงการ HIV และ AIDS ของสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ

ที่มีคำเรียกร้องดังกล่าว ก็เพราะหลายประเทศในเอเชียมีกฎหมายต่อต้านยาเสพติดอย่างเข้มงวดกวดขัน บางประเทศมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ในขณะที่บางประเทศให้ประหารชีวิตผู้ที่ค้าหรือมียาเสพติด อย่างเช่น เฮโรอิน ในครอบครอง

ในขณะที่ทั่วทั้งเอเชียมีคนราวๆ ห้าล้านคนที่ติดเชื้อไวรัส HIV ที่ทำให้เป็นโรคเอดส์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นบริเวณที่มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุด

นาย Prasada Rao ผู้อำนวยการโครงการเอดส์ของสหประชาชาติ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่าจะต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อลดการแพร่กระจายโรคเอดส์ โดยเฉพาะในหมู่ผู้เสพยาด้วยการฉีดเข้าเส้น

เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติผู้นี้กล่าวว่า กำลังมีความกดดันให้หันมาพิจารณากฎหมายยาเสพติด ในเวลานี้ เพราะกม.เหล่านี้ ซึ่งอาจจะมีอายุ 30 40 หรือ 50 ปี ยังใช้แนวทางปฏิบัติดั้งเดิม ไม่แยกผู้ค้ายาออกจากผู้ใช้ยา และว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่ และมองผู้ใช้ว่าเป็นคนไข้ ไม่ใช่ผู้กระทำผิด

การแพร่กระจายเชื้อไวรัส ที่ทำให้เป็นเอดส์ลดลงในกัมพูชา พม่า และประเทศไทย แต่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอินโดนีเซีย ปากีสถาน และเวียตนามในช่วงสองสามปีมานี้

ในประเทศจีน โครงการเอดส์ของสหประชาชาติกล่าวว่า เป็นที่เชื่อว่าเกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ HIV ติดมาจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดที่ปนเปื้อน ส่วนในมาเลย์เซียและเวียตนาม นอกจากปัญหาเรื่องเข็มฉีดยาปนเปื้อนแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ปกป้องด้วย

องค์การสหประชาชาติกำลังส่งเสริมวิธีใหม่ เรียกว่าวิธี “ลดอันตราย” อย่างเช่น การแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยา และการใช้ยา อย่างเช่น methadone ทดแทน เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัส ได้มีการใช้วิธีเหล่านี้อย่างประสบผลสำเร็จมาแล้วในออสเตรเลีย ในขณะที่ไต้หวัน บังคลาเทศ และเวียตนามเริ่มรับไปใช้ เฉพาะในไต้หวันอัตราการติดเชื้อลดลง 70% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

แต่นาย Prasada Rao บอกว่าหน่วยงานรักษากฎหมาย และระดับต่างๆ ของการเมืองยังไม่อยากให้การสนับสนุนกับวิธีการเหล่านี้

เจ้าหน้าที่สหประชาชาติผู้นี้กล่าวว่า ถึงเวลาที่จะต้องนำเครื่องมือสำคัญนี้มาใช้ ในฐานะที่เป็นยุทธวิธีสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัส HIV แต่ปรากฎว่าในระดับประเทศแล้ว ยังไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรักษากฎหมาย กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข

ผู้อำนวยการโครงการเอดส์ของสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า จะต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อปฏิรูปกฎหมาย และยุทธวิธีที่จะลดการติดเชื้อรายใหม่ๆ ให้ลงเหลือครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในเวลาห้าปีข้างหน้านี้


XS
SM
MD
LG