ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปัญหาน้ำท่วมขัง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในกรุงจาการ์ต้ากว่า 2 ล้านคน


กรุงจาการ์ต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซีย คือหนึ่งในเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรราว 24 ล้านคน ซึ่งปัญหาสำคัญในกรุงจาการ์ต้าก็เช่นเดียวกับปัญหาของเมืองใหญ่ต่างๆในประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ปัญหารถติด ปัญหาชุมชนแออัดและการขาดการวางผังเมืองที่ดี ตลอดจนปัญหาน้ำท่วมขัง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในกรุงจาการ์ต้ามากกว่า 2 ล้านคน

เมื่อเกิดฝนตกหนักในกรุงจาการ์ต้า ทั่วทั้งเมืองดูเหมือนจะหยุดนิ่ง ผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดอยู่ใต้หลังคาร้านค้าข้างถนนเพื่อหลบฝน แต่สำหรับประชาชนอีกราว 2 ล้าน 5 แสนคนที่อาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ต้า พวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนักได้ และในขณะที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงภาวะโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หลายฝ่ายจึงคาดว่าปัญหาน้ำท่วมในกรุงจาการ์ต้าจะยิ่งรุนแรงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม คุณ Hongjoo Ham ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก เชื่อว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อกรุงจาการ์ต้า

จนท.ธนาคารโลกผู้นี้กล่าวว่า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 5 เซนติเมตรภายในปี 2025 แต่ทุกวันนี้กรุงจาการ์ต้าก็จมลงไปเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยปีละ 5 เซนติเมตรอยู่แล้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้จมลงทุกปี ก็คือการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้กันมาก จนก่อให้เกิดชั้นสูญญากาศใต้พื้นดิน ประกอบกับน้ำหนักของอาคารบ้านเรือน ที่กดลงมาเรื่อยๆ ในที่สุดเมืองทั้งเมืองก็กำลังจมลงในทะเลโดยไม่ต้องรอภาวะโลกร้อนเลย โดยบางพื้นที่พื้นดินทรุดลงไปแล้วถึง 2 เมตร

ทุกวันนี้ประชาชนในกรุงจาการ์ต้าราว 60% ต้องสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และในแต่ละปียังมีชาวอินโดนีเซียจำนวนมาก อพยพเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงแห่งนี้ คาดว่าภายในอีก 16 ปีข้างหน้า ประชากรในกรุงจาการ์ต้าจะเพิ่มจำนวนเป็น 35 ล้านคน ซึ่งคุณ Hongjoo Ham ระบุว่าเป็นแนวโน้มที่อันตรายอย่างยิ่ง

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้สรุปว่า ปัญหาน้ำท่วมในกรุงจาการ์ต้าส่วนใหญ่ เกิดจากฝีมือของมนุษย์ เพราะประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีอาคารบ้านเรือน และถนนหนทางมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่อยู่เหนือน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งของช่องเขาปุนจัค โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของกรุงจาการ์ต้านั้น ถูกบุกรุกด้วยน้ำทั้งสองด้าน คือน้ำทะเลด้านเหนือที่กัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง และพายุฝนที่พาน้ำหลากลงมาจากภูเขาสู่ที่ราบ จริงๆ แล้ว ชาวดัตช์ที่เคยปกครองอินโดนีเซีย ได้วางผังเมืองให้กรุงจาการ์ต้าสามารถรับมิอกับน้ำท่วมได้ ด้วยการสร้างเครือข่ายคลองระบายน้ำที่ซับซ้อน เพื่อเปลี่ยนทางน้ำให้ลงสู่ทะเล แต่เนื่องจากขาดการดูแลรักษาที่ดี ปัจจุบันคลองเหล่านั้น จึงอุดตันไปด้วยขยะจนใช้การไม่ได้

คุณ Timo Worm วิศวกรชาวดัตช์ที่ถูกส่งมาฝึกชาวอินโดนีเซีย ให้ขุดลอกคูคลองระบายน้ำเหล่านั้นตามโครงการป้องกันน้ำท่วม กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงจาการ์ต้านั้น เลวร้ายกว่าที่คิดและเป็นเรื่องยากที่จะสะสางได้

วิศวกรผู้นี้บอกว่าสิ่งที่อุดตันในคลองส่วนใหญ่ เป็นขยะถึง 50% ซึ่งแตกต่างกับที่ฮอลแลนด์ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโคลนหรือดินทราย และแม้ในขณะที่ทำการขุดลอกคลองนั้น ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากต่างพากันชื่นชม แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขายังคงโยนขยะลงในคลอง ทั้งต่อหน้าและลับหลังธนาคารโลกระบุว่า อินโดนีเซียต้องใช้เงินทุนราว 5 พันล้านดอลล่าร์ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนรวมทั้งคุณ Hongjoo Ham เชื่อว่า ถึงจะใช้เงินมากขนาดนั้นก็ไม่มีประโยชน์ หากขาดความร่วมมือของรัฐบาลส่วนท้องถิ่น และประชาชนในกรุงจาการ์ต้าเอง

XS
SM
MD
LG