ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การลักพาตัวหัวหน้างาน...การประท้วงรูปแบบใหม่ในฝรั่งเศส


ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ลักพาตัวที่ฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้ง โดยผู้กระทำการส่วนใหญ่ คือลูกจ้างบริษัทที่ถูกไล่ออกจากงาน ในขณะที่ผู้ที่ถูกลักพาตัวหรือกักขังหน่วงเหนี่ยวนั้นก็คือบรรดานายจ้างของบริษัท

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ มีชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก สนับสนุนการประทำของบรรดาลูกจ้างครั้งนี้

เหตุการณ์ประท้วงในฝรั่งเศสนั้นมีมายาวนานมากกว่า 200 ปี นับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศสก็ว่าได้ แต่ปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้เกิดการประท้วงรูปแบบใหม่ขึ้นในฝรั่งเศส นั่นคือการที่ลูกจ้างลักพาตัวหัวหน้างานไปกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ หรือที่เรียกกันว่า Bossnapping เพื่อต่อรองกับบริษัท ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหัวหน้างานหลายต่อหลายคน ที่ถูกลักพาตัวไปไว้ที่ห้องพัก หรือห้องทำงานเป็นเวลาหลายวัน โดยบรรดาลูกจ้างผู้ลักพาตัวส่วนใหญ่บอกว่า พวกตนได้ดูแลหัวหน้าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น เป็นอย่างดี เหตุการณ์ลักพาตัวผู้บริหารนี้ หลายครั้งจบลงด้วยชัยชนะของลูกจ้าง บางบริษัทยินยอมเปิดการเจรจาใหม่เรื่องการเพิ่มเงินชดเชยแก่บรรดาลูกจ้างที่ถูกไล่ออก

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ได้กล่าวประณามการกระทำดังกล่าว และแสดงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่นเดียวกับนาย Jean-Francois Rouband ประธานสหภาพนายจ้าง CGPME ของฝรั่งเศส

นาย Rouband กล่าวว่าเขาเข้าใจความโกรธเคืองของบรรดาลูกจ้าง ในช่วงเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ปัจจุบัน อัตราการว่างงานในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นสูงกว่า 8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี เฉพาะแค่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีคนฝรั่งเศสตกงานไปแล้วราว 170,000 คน และความกดดันทางเศราฐกิจเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้คนฝรั่งเศสจำนวนมากออกมาสนับสนุนการ ลักพาตัวผู้บริหารของบริษัทต่างๆ โดยรายงานสำรวจประชามติของบริษัท CSA ระบุว่า ชาวฝรั่งเศส 45% เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในขณะที่ผลการสำรวจอีกฉบับหนึ่งระบุว่า 1 ใน 3 ของคนฝรั่งเศสสนับสนุนการลักพาตัวหัวหน้างาน 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และมีเพียง 7% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับ Bossnapping

คุณ Jerome Fourquet ผช.ผอ.บริษัทวิจัย IFOP ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้บรรดาลูกจ้างชาวฝรั่งเศสโกรธแค้นก็เพราะข่าวเกี่ยวกับการแจกเงินโบนัสให้แก่ผู้บริหาร หรือการให้เงินก้อนใหญ่สำหรับผู้บริหารที่ยอมลาออกจากบริษัท ในช่วงภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ และอัตราการว่างงานสูงมากเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวฝรั่งเศสอีกหลายคน เหตุการณ์ลักพาตัวหัวหน้างาน ไม่ว่าจะเพื่อแก้แค้นหรือต่อรองกับบริษัท ล้วนไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

คุณ Emmanuel Miranda ชาวฝรั่งเศสวัย 22 ปีให้ความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ ไม่ใช่ความผิดของบริษัทต่างๆ ที่ไล่พนักงานออก และยิ่งไม่ใช่ความผิดของผู้บริหาร หรือหัวหน้างานเหล่านั้นแต่อย่างใด


XS
SM
MD
LG