ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โจรสลัดในโซมาเลีย ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฏหมายทะเล ของสหประชาชาติ


การกระทำเยี่ยงโจรสลัดที่เกิดขึ้นอย่างชุกชุมเหลือเกิน ในบริเวณนอกเขตชายฝั่งของประเทศโซมาเลียในระยะไม่กี่ปี มานี้เผยให้เห็นจุดอ่อนของกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ ที่ทำให้การกระทำเยี่ยงโจรสลัดในท้องทะเลหลวง เป็นเรื่องทีผิดกฎหมายทั่วโลก

ในบริเวณน่านน้ำนอกเขตชายฝั่งของโซมาเลีย ระยะทางยาวเกือบ 4,000 กิโลเมตรนั้น มีกองเรือต่อต้านโจรสลัดอันประกอบด้วยเรือรบ จากกว่าสิบสองประเทศที่เลขาธิการสหประชาชาติ บาน กี-มูนกล่าวว่าเป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดกองหนึ่งในยุคปัจจุบัน

ภาคีองค์การเนโต้ ภาคีของสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ ส่งเรือรบไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อต่อสู้กับการใช้กำลังจี้บังคับเรือ และลูกเรือไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเกิดชุกชุมยิ่ง สหประชาชาติกล่าวว่า เมี่อปีที่แล้วโจรสลัดโจมตี 111 ครั้งในบริเวณเขตฉนวนของทะเลที่เชื่อมคลองสุเอซกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งนับว่าเป็นการโจมตีที่เกิดบ่อยกว่าในช่วงปีพุทธศักราช 2550 เกือบ 200 เปอร์เซ็นต์

พวกโจรสลัด ซึ่งออกปล้นสะดมภ์จากบริเวณหมู่บ้านชาวประมง ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของโซมาเลียนั้น ได้เงินค่าไถ่มาเรียกได้ว่าเป็นร้อยๆ ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ทำให้การค้าโลกยุ่งเหยิง และทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายเหลือคณานับ

การที่ไม่มีหน่วยยามฝั่งคอยสอดส่อง และป้องกันการกระทำอันผิดกฎหมายเหล่านี้ ชาวประมงค์โซมาเลียเริ่มรวมกลุ่ม และหาอาวุธมาใช้เพื่อเผชิญหน้ากับพวกที่นำขยะมาทิ้ง และเก็บค่าธรรมเนียมจากเรือต่างชาติ ที่มาจับปลาในน่านน้ำโซมาเลีย

คุณ โรเจ้อร์ มิดเดิลตัน นักวิเคราะห์เกี่ยวกับย่าน Horn of Africaของ Chatham House ที่กรุงลอนดอนกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ผู้ที่เป็นโจรสลัดอยู่ในขณะนี้ มิได้มาจากหมู่บ้านทางชายฝั่ง แต่มาจากย่านที่อยู่ลึกเข้ามาในประเทศ เคยเป็นพวกคล้ายทหาร และอยากได้เงินอย่างเดียว ข้อเท็จจริงที่ว่าการจับปลาแบบผิดกฎหมาย และการทิ้งขยะที่เป็นสารพิษยังดำเนินอยู่ในโซมาเลียจึงเป็นเสมือนการประชาสัมพันธ์ที่ดีเลิศให้กับพวกโจรสลัด เรื่องนั้นหมายถึงว่าเมื่อพวกโจรสลัดยึดเรือลำหนึ่งได้และบอกสำนักข่าวว่า พวกเขากำลังปกป้องน่านน้ำของโซมาเลีย ทำให้ชุมชนต่างๆ ตามแนวชายฝั่งที่พวกนี้ต้องการความสนับสนุนนั้นฟังแล้วพอใจมาก

บรรดาเรือรบที่ลาดตระเวณในย่านอ่าวเอเดน และมหาสมุทรอินเดียนั้น ปฎิบัติตามกรอบโครงของอนุสัญญากฎหมายทะเลของสหประชาชาติ และมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

กฎหมายทะเล ซึ่ง กว่า 150 ประเทศลงนามไปเมี่อปีพุทธศักราช 2525 ระบุว่า การกระทำเยี่ยงโจรสลัดเป็นการกระทำความผิดในท้องทะเลหลวง เพื่อมุ่งประโยชน์ส่วนตน และระบุด้วยว่าทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะจับกุม และดำเนินคดีต่อผู้ที่มีการกระทำเยี่ยงโจรสลัดในท้องทะเลหลวง

แต่ผู้ชำนัญพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายทะเลกล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าอนุสัญญาฉบับนั้นมิได้คำนึงถึงประเทศที่ประสพความล้มเหลวอย่างโซมาเลีย และเพิกเฉยละเลยที่จะถกปัญหาที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าโจรสลัดโจมตีภายในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศประเทศหนึ่ง หรือในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศเพื่อนบ้าน หาใช่การโจมตีในท้องทะเลหลวงไม่

กฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกระทำเยี่ยงโจรสลัด สันนิษฐานว่าแต่ละประเทศต่างคนต่างรับผิดชอบในการสอดส่อง และลาดตระเวณน่านน้ำของตนเอง และดำเนินคดีต่อผู้ที่ถูกจับฐานมีการกระทำเยี่ยงโจรสลัด แต่ประเทศทั้งหมดนั้นหาได้มีทรัพยากร และขีดความสามารถที่เท่าๆ กันหมดในการรักษาความปลอดภัยทางทะเล ในน่านน้ำอาณาเขตของตน เรื่องที่ว่านี้กำลังเห็นได้ชัดในกรณีการกระทำเยี่ยงโจรสลัดที่กำลังเกิดอยู่ในโซมาเลีย ประเทศนั้นพยายามมาสิบแปดปีแล้วที่จะสถาปนารัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

ในระยะไม่กี่เดือนมานี้ เคนยา ประเทศเพื่อนบ้านของโซมาเลีย ลงนามในบันทึกแห่งความเข้าใจกับสหรัฐ อังกฤษและสหภาพยุโรป ซึ่งเคนยายอมรับตัวผู้ต้องสงสัยว่า เป็นโจรสลัด และดำเนินคดีต่อคนเหล่านั้นในเคนยา แต่กลุ่มสนับสนุนสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และในเคนยาตลอดจนพวกทนายความวิพากษ์ตำหนิเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าเคนยายังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวโยงกับเรื่องการกระทำเยี่ยงโจรสลัด และไม่สามารถเชื่อถือระบบศาลที่ทุจริตของเคนยาได้ว่า จะพิจารณาคดีอย่างเสรีและยุติธรรม รัฐมนตรีต่างประเทศเคนยา โมเสส เวตังกูลากล่าวปกป้องจุดยืนของรัฐบาลว่าเคนยากำลังทำในสิ่งที่เป็น

ประโยชน์ต่อการฟื้นฟูความปลอดภัยทางทะเลขึ้นมาใหม่ ในย่านแอฟริกาตะวันออก แต่ยอมรับด้วยว่าปัญหาดังกล่าวว่า จะเกิดต่อไปเรื่อยๆ ถ้าโซมาเลียยังไม่บรรลุเสถียรภาพทางการเมือง


XS
SM
MD
LG