อนุสัญญาเกียวโต ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก จะหมดอายุลงในปีค.ศ. 2012 และในสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของประเทศต่างๆ 175 ประเทศไปประชุมกันที่กรุงบอนน์เพื่อวางเค้าโครงอนุสัญญาฉบับใหม่ ที่จะนำมาใช้สืบต่อจากอนุสัญญาเกียวโต
การเจรจาในเรื่องนี้เริ่มต้นที่เกาะบาหลีเมื่อสองปีที่แล้ว และการเจรจาขั้นสุดท้ายจะมีขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเก้น เดนมาร์ค ในเดือนธันวาคม ศกนี้
เวลานี้ กลุ่มวิจัยการเกษตรกลุ่มหนึ่งกำลังดำเนินการหาเสียงสนับสนุนอย่างแข็งขัน เพื่อจะให้ที่ประชุมดังกล่าว นำเรื่องการเกษตรเข้าวาระการประชุมด้วย
กลุ่มนักวิจัยการเกษตรของสถาบันวิจัยนโยบายอาหาร หรือ International Food Policy Research Institute เรียกย่อๆว่า IFPRI ไม่อยากเห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เมื่อทำอนุสัญญาเกียวโตซ้ำประวัติศาสตร์ที่กรุงโคเปนเฮเก้น ซึ่งก็คือ ไม่มีเรื่องการเกษตรรวมอยู่ในอนุสัญญาเรื่องบรรยากาศโลกด้วย
Gerald Nelson นักวิจัยของ IFPRI กล่าวว่า แม้เห็นได้ชัดว่า การตัดไม้ทำลายป่าก่อให้เกิดการปล่อยแก๊สคาร์บอน ไดออกไซด์ออกมาอย่างมาก แต่การเกษตรก็ปล่อยแก๊สดังกล่าวออกมาไม่น้อย และยังมีปัญหาเรื่อง ไนทรัส ออกไซด์และเมเธนจากปศุสัตว์ และระบบการปลูกข้าวที่อาศัยการชลประทานด้วย
นักวิจัยของสถาบันแห่งนี้กล่าวต่อไปว่า พร้อมๆ กับการขยายตัวของชุมชน และการสูญเสียพื้นที่ป่า การเกษตรปล่อยแก๊สที่ก่อให้เกิดสภาพแบบเรือนกระจกปลูกพืช ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศห่อหุ้มโลกมากกว่า 30%
นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ว่าบรรยากาศโลกที่ร้อนขึ้น จะยิ่งทำให้ความท้าทายที่บรรดาชาวไร่ชาวนากำลังเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้ เข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแห้งแล้ง อุทกภัย ศัตรูพืช หรือโรคภัยไข้เจ็บ นักวิจัย Mark Rosegrant ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีการผลิตของ IFPRI บอกว่า ปัญหาที่ว่านี้เห็นได้ชัดในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนอกจากปัญหาที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว ยังกำลังประสบความยากจน และความหิวโหยด้วย นักวิจัยผู้นี้กล่าวว่า การผลิตข้าวโพดที่อาศัยฝนเป็นหลักจะลดลง 17% และพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่อาศัยการชลประทานจะลดลง 20% ทั่วโลก และผลกระทบที่ตามมา
นักวิจัย Mark Rosegrant ของ IFPRI คาดว่า ราคาอาหารจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก เพราะฉะนั้น ไม่เพียงแต่ว่า ปริมาณการผลิตจะลดลงเท่านั้น ราคาที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคที่ยากจน เป็นการลดความมั่นคงในเรื่องอาหาร และความเป็นอยู่
แต่นักวิจัย Gerald Nelson เชื่อว่า เทคโนโลยี และการบริหารใหม่ๆ จะช่วยลดการปล่อยแก๊สและความเสี่ยงต่อชาวนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็กได้ โดยการปรับส่วนผสมของพืชที่ปลูก ใช้ระบบการเพาะปลูกที่มีส่วนเหลือทิ้งค้าง เปลี่ยนการปลูกพืชประจำปีเป็นพืชยืนต้น หรือใช้ที่ดินเป็นทุ่งหญ้า หรือสำหรับการปลูกป่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าใช้ได้ผล และน่าจะนำมาใช้ได้อย่างเช่น ตลาดซื้อขายคาร์บอนที่ชิคาโก ที่จ่ายเงินให้ชาวนาในสหรัฐเก็บคาร์บอนไว้ในพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัย Mark Rosegrant ให้ความเห็นว่า อนุสัญญาฉบับใหม่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีเงินทุนที่จัดสรรไว้ เพื่อช่วยให้การเกษตรปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลกรวมอยู่ด้วย และว่าประเทศกำลังพัฒนายังกำลังมองหาสิ่งจูงใจ ในขณะเดียวกันกับที่กำลังพยายามกำหนดจุดยืนของพวกตน ในการเจรจาเรื่องบรรยากาศโลกนี้ด้วย
นักวิชาการของ IFPRI ไม่คิดว่าประเทศกำลังพัฒนา จะร่วมลงนามในข้อตกลงโคเปนเฮเก้นที่ไม่จัดสรรเงินทุนไว้ให้อย่างพอเพียง เขาเชื่อว่าประเทศเหล่านั้น จะไม่ร่วมลงนามในข้อตกลงที่โดยเนื้อแท้แล้ว กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนา ต้องจ่ายเงินแก้ปัญหาที่ประเทศพัฒนาแล้วก่อขึ้นโดยการปล่อยแก๊สที่ทำให้โลกร้อนขึ้น เป็นปริมาณสูงติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายต่อหลายปี
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่าน Agenda for Negotiation in Copenhagen ได้ที่ ifpri.org