ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การจัดงานประกวดออกแบบ เมืองแห่งอนาคตที่กรุงวอชิงตัน


เมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงวอชิงตันมีการจัดงานประกวดออกแบบ เมืองแห่งอนาคต National Engineers Week Future City Competition 2009 โดยให้นักเรียนระดับมัธยมต้นในอเมริกา คิดออกแบบเมืองต่างๆ ในอีกประมาณหนึ่งร้อยกว่าปีข้างหน้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนที่เข้าแข่งขันเหล่านั้น เกิดความใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกรในอนาคต

งานประกวด National Engineers Week Future City Competition 2009 เดินทางมาถึงรอบสุดท้ายแล้ว โดยมีทีมนักเรียนนักออกแบบเข้ารอบ 38 ทีมด้วยกันจากผู้สมัครทั้งหมด 1100 ทีมทั่วประเทศ สำหรับหัวข้อการออกแบบเมืองแห่งอนาคตในปีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

นั่นคือเสียงของหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสิน ที่ต้องการให้นักเรียนที่เข้ารอบ บรรยายถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการจัดหาแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งการกรองน้ำบริสุทธิ์ และลดการใช้น้ำในครัวเครือนแห่งอนาคต ซึ่งโครงงานต่างๆที่นักเรียนผู้เข้าร่วมแข่งขันเสนอมา ก็ล้วนแต่น่าสนใจทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จุลินทรีย์เข้าช่วยในการทำลายขยะมูลฝอย และสร้างพลังงานไฟฟ้าที่สามารถนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำได้ อีกโครงงานหนึ่งคือการนำน้ำที่ผ่านระบบกรองน้ำไปใช้ปลูกถั่วเหลือง เพื่อนำถั่วเหลืองนั้นมาแปรเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สำหรับใช้ในยานพาหนะต่างๆ ในโลกอนาคต และยังมีโครงงานของน้องๆ จากโรงเรียนมัธยม Valley Park ในรัฐนิวเจอร์ซี่ย์ที่คิดออกแบบเมืองแห่งความหวัง ริมฝั่งแม่น้ำแยงซีในประเทศจีนในอีก 160 ปีข้างหน้า ด้วยการใช้หุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว ช่วยแยกสารเคมีและสิ่งตะกอนปนเปื้อนในน้ำ และใช้ระบบกรองสารคาร์บอนพลังงานนาโน ในการผลิตน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย เป็นความพยายามใช้ทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

โครงงานเมืองแห่งความหวังหรือ City of Hope นี้จะใช้แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า และผู้คนในอนาคตจะใช้ยานพาหนะแรงดันน้ำ ในการเดินทาง ทำให้ไม่มีมลพิษในอากาศ แม้จะฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่น้อง RunHe Li จากทีมออกแบบเมืองแห่งความหวัง บอกว่าโครงงานนี้เป็นโครงงานแห่งอนาคตที่เขาเชื่อว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้จริงในปี 2175

ทางด้านโรงเรียนมัธยม Al-Dahi จากรัฐเท็กซัสก็มีโครงงานระบบขนส่งแบบใช้พลังงานสะอาด ซึ่งก็ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดไปแล้ว ซึ่งน้อง Ali Ahmed จากโรงเรียน Al-Dahi บอกว่าประสบการณ์ที่ตนเอง และเพื่อนๆ ได้จากการเข้าร่วมการประกวดครั้งนี้ คือการตระหนักว่าวิศวกรเป็นผู้ที่มีบทบาทนำ ในการสร้างสรรค์โลกยุคใหม่ และเป็นผู้ที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสู่การปฏิบัติจริง ในขณะที่น้อง Yasmine Sanai เพื่อนร่วมทีมของน้อง Ali Ahmed ถึงกับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการจะทำในอนาคตเลยทีเดียว

น้อง Yasmine บอกว่าเธอได้เรียนรู้จากโครงการนี้ว่า ผู้หญิงก็เป็นวิศวกรได้เช่นกัน และว่าเธอยินดีใช้เวลาเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัยเพื่อจะได้เป็นวิศวกร มีชีวิตที่ดี มีอาชีพที่ดีในอนาคต ซึ่งการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในลักษณะนี้ คือเหตุผลสำคัญที่มูลนิธิจัดประกวดออกแบบโครงงานทางวิศวกกรมแห่งชาติ จัดงานครั้งนี้ขึ้น


XS
SM
MD
LG