ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประเทศเพื่อนบ้าน วิพากษ์ตำหนิฟิลิปปินส์ ที่ตรากฏหมายใหม่ ว่ามีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้


การที่ฟิลิปปินส์ตรากฎหมายใหม่ ซึ่งอ้างครั้งใหม่ว่าฟิลลิปปินส์มีอธิปไตย เหนือหมู่เกาะต่างๆ ที่พิพาทกันอยู่ในทะเลจีนใต้นั้น ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านคือ เวียตนาม ใต้หวันและจีนวิพากษ์ตำหนิเอา

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ จีนส่งเรือลาดตระเวนลำหนึ่งไปยังบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดอีกครั้งหนึ่ง ว่าทำไมทะเลจีนใต้จึงเป็นจุดเดือดแห่งหนึ่งของเอเชีย

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กลอเรีย อาโรโย ลงนามในกฎหมาย Baselines Law อย่างเงียบๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ประเทศเพื่อนบ้านต่างวิพากษ์ตำหนิเรื่องนั้น กันอย่างรวดเร็ว และดุเดือด กฎหมายฉบับนั้นระบุว่า ตรงไหนเป็นเขตที่ฟิลิปปินส์ถือว่า เป็นเขตเศรษฐกิจของตนแต่ผู้เดียว และย้ำยืนยัน เรื่องที่ฟิลลิปินส์อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์นั้นอีกครั้งหนึ่ง

เวียตนามกล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นการละเมิดอธิปไตยของเวียตนาม ที่มีอยู่เหนือหมู่เกาะเหล่านั้นอย่างร้ายแรง ส่วนจีนวิพากษ์ตำหนิว่าคำอ้างของฟิลิปปินส์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเน้นย้ำว่าจีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเหล่านั้น และน่านน้ำที่อยู่ติดกันแบบที่จะปฏิเสธมิได้

เมื่อวันอาทิตย์ จีนส่งเรือลาดตระเวณลำหนึ่งไปยังบริเวณดังกล่าว จีนทำเช่นนั้นหลังจากเรือของสหรัฐนาวีลำหนึ่งประจันหน้าคุมเชิงกันกับเรือจีน หลายลำในทะเลจีนใต้ จีนอ้างว่า เรือของสหรัฐนาวีเข้าไปในเขตเศรษฐกิจที่จีนถือว่าเป็นของตนแต่ผู้เดียว แต่สหรัฐอ้างว่าเรือลำนั้น อยู่ในบริเวณน่านน้ำระหว่างประเทศ

คุณ แซม เบตแมน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงทางทะเลแห่งคณะวิเทศคดีศึกษาราชารัตนัม ที่สิงค์โปร์กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เมื่อนำเหตุการณ์เหล่านี้มาพิจารณาควบกันไป กับเรื่องการประจันหน้ากันระหว่างเรืออเมริกัน และเรือฝ่ายจีนแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นชัดถึงวิสัยเกี่ยวกับการไร้เสถียรภาพทางทะเลในบริเวณดังกล่าว มีหลายประเทศที่สนใจทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่อ่อนไหวมาก

บริเวณที่จีนอ้างว่าเป็นเขตเศรษฐกิจของตนแต่ฝ่ายเดียว ในทะเลจีนใต้นั้นเหลื่อมล้ำกับเขตที่เวียตนาม และฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นเขตเศรษฐกิจของตนแต่ผู้เดียว นักวิเคราะห์กล่าวว่าขณะที่การใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และแสนยานุภาพทางนาวีของจีนเข้มแข็งขึ้น นักวิเคราะห์กล่าวว่าจีนมีท่าทีว่าจะป้องกันเขตที่จีนอ้างว่า เป็นเขตเศรษฐกิจของตนแต่ผู้เดียวนั้นอย่างเข้มแข็งมากขึ้น

ชาติไม่กี่แห่งตามแนวทะเลจีนใต้ มีขีดความสามารถทางทหารทัดเทียมกับของจีน

เมื่อดูตามอนุสัญญาเกี่ยวกับกฎหมายทะเลแห่งสหประชาชาติ เขตเศรษฐกิจจำเพาะนี้คลุมบริเวณห่างจากฝั่งของประเทศ 370 กิโลเมตร ภายในเขตดังกล่าว ประเทศทางชายฝั่งมีสิทธิ์สำรวจและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และมีขอบเขตอำนาจ

เหนือหมู่เกาะที่สถาปนาขึ้นมา การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ส่วนประเทศอื่นๆ ได้รับอนุญาติให้ประกอบกิจกรรมในเขตดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงสิทธิ และหน้าที่ของประเทศที่อยู่ทางชายฝั่ง

แต่ประเทศต่างๆ ตีความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน

คุณแซม เบตแมนอธิบายให้ฟังไว้ตอนนี้ว่า ข้อโต้เถียงส่วนหนึ่งของจีนก็คือว่า ประเทศอื่นเข้ามาทำกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศทางชายฝั่ง ซึ่งในกรณีนี้คือสหรัฐมาทำกิจกรรมในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของจีน ซึ่งไม่ควรจะมาทำในเขตดังกล่าวของประเทศทางชายฝั่ง ซึ่งอาจเป็นที่เห็นว่าเป็นผลเสียต่อความมั่นคง และการป้องกันประเทศของประเทศทางชายฝั่ง สหรัฐแย้งว่าเรื่องนั้นเป็นที่ยอมรับได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เหตุการณ์แบบนั้นเน้นให้เห็นถึงความหวาดเกรง ที่มีมานานเกี่ยวกับวิสัยที่อาจเกิดการปะทะกันทางทหารเนื่องจากการขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจจำเพาะนี้

คุณ แซม เบตแมนกล่าวว่ามาตรการสร้างความมั่นใจและการติดต่อเจรจาอเนกภาคีสำคัญต่อการป้องกันมิให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์กันทางทะเลใดๆ ขึ้นในภูมิภาคนั้น

เพื่อป้องกันเรื่องดังกล่าว สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนลงนามในปฎิญญาว่าด้วยการประพฤติปฏิบัติในทะเลจีนใต้เมื่อปีพุทธศักราช 2545

คุณนอร์เบอร์โต กอนซาเลซ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติฟิลิปปินส์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีข้อผูกพันอยู่ตามข้อตกลงฉบับนั้น และควรมาเจรจันเพื่อสลายข้อขัดแย้ง

บรรดาผู้นำของสมาคมอาเซียน และประเทศคู่เจรจารวมทั้งจีนจะมาประชุมสุดยอดประจำปีที่ประเทศไทยในเดือนหน้า คาดว่าการแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเขตแดน จะรวมอยู่ในระเบียบวาระของการประชุมสุดยอดนั้นด้วย


XS
SM
MD
LG