ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในพม่า สิ้นสุดลงแล้ว


การประชุมสมาคมประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่ประเทศไทยสิ้นสุดลงแล้ว โดยในพิธีปิดการประชุมมีแถลงการณ์สั้นๆ เรื่องการสนับสนุนให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง และสร้างความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยในพม่า

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจ้าภาพในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ กล่าวปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรีไทยแถลงต่อผู้สื่อข่าวในพิธีปิดการประชุมว่า บรรดาผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียน มีมติที่จะสนับสนุนกันและกันมากขึ้น และเร่งสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และกลุ่มอาเซียนยังได้มีสารถึงพม่าซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอาเซียน ว่าด้วยเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในพม่าด้วย

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์กล่าวว่า ผู้นำอาเซียนสนับสนุนให้พม่า ร่วมมือกับสหประชาชาติต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการดำเนินการตามแผน ด้วยแนวทางที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและการสันบสนุนให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารของพม่าได้ร่างแบบแผนแนวทางสู่ประชาธิปไตย ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนเห็นว่า แนวทางดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้บรรดานายพลทหารคงอำนาจการเมืองต่อไป โดยเฉพาะการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ในการเลือกตั้งปีหน้า กองทัพพม่าจะมีที่นั่งในสภาอย่างน้อย 25% และแม้ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลพม่าได้ยินยอมปล่อยตัวนักโทษการเมืองราว 20 คน แต่กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มระบุว่า ยังมีผู้ที่ถูกคุมขังอีกมากกว่า 2 พันคน รวมถึงเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านสันนิบาตประชาธิปไตยพม่า ซึ่งเคยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พศ.2533 ทางสหประชาชาติและประเทศต่างๆ มีมติลงโทษพม่าเรื่องการปราบปราม และคุมขังสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่รัฐบาลอเมริกันชุดประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ยืนยันว่ามีแผนจะทบทวนนโยบายลงโทษพม่า ซึ่งทางเลขาธิการใหญ่อาเซียน นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวกับผู้สื่อข่าว Voice of America ว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม พม่าควรใช้โอกาสในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ

ในขณะเดียวกัน อดีตเลขาธิการใหญ่อาเซียนชาวพม่า Ong Keng Yong เห็นด้วยว่าการทบทวนนโยบายของสหรัฐครั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพม่า นับตั้งแต่การประชุมอาเซียนปีที่แล้ว และว่ารัฐบาลพม่าควรตอบสนองในด้านบวก ไม่เช่นนั้นโอกาสที่ดีนี้ก็จะสูญเปล่า คุณ Ong Keng Yong บอกว่าแม้ยังไม่อาจระบุได้ว่า รัฐบาลพม่าจะมีท่าทีอย่างไร แต่ก็เชื่อแน่ว่าเสียงจากหลายฝ่ายจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำทหารพม่าแน่นอน

เมื่อวันเสาร์ ผู้นำของพม่า และกัมพูชาปฎิเสธที่จะพบปะกับตัวแทนกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน แม้การเจรจาดังกล่าวจะมีอยู่ในกำหนดการอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เลขาธิการใหญ่สุรินทร์ พิศสุวรรณ มองว่าอย่างน้อยประเทศเหล่านั้น ก็เริ่มยอมรับความจริงที่ว่า ไม่อาจจะปิดกั้นประชาชน และประชาสังคมในประเทศได้ตลอดไป จึงนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

นอกจากนี้ ในการประชุมอาเซียนครั้งล่าสุด ยังได้มีการลงนามในข้อตกลงเปิดการค้าเสรีระหว่างกลุ่มอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มูลค่าราว 1 หมื่นล้านดอลล่าร์ ที่ประชุมเชื่อว่าข้อตกลงดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับวิกฤตการเงินโลกในปัจุบัน


XS
SM
MD
LG