ทำไมคนเราจึงชอบทำอะไรเสี่ยง แบบที่คนคาดไม่ถึงอย่างเล่นพนันไพ่ยี่อิ้ด หรือ กระโดดออกมาจากเครื่องบิน โดยที่บางครั้งไม่ได้เงินทองตอบแทนเลยก็มี แน่นอนว่า การทำอะไรเสี่ยงแบบนั้น ผู้ทำอาจเกิดความตื่นเต้นเร้าใจแน่ๆ แต่ช่วงของความปลาบปลื้มปิติระยะสั้นๆ ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวไม่น่าจะทำให้ผู้ที่ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ กลับมาทำอะไรเสี่ยงๆ แบบนั้นอีก
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ที่นครแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี และของวิทยาลัยแพทยศาสตร์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่นครนิวยอร์ก นำรายงานการวิจัยฉบับใหม่ออกเผยแพร่ รายงานระบุว่าสารเคมีโดปามีน ซึ่งทำให้สมองของคนรู้สึกเบิกบานนี่แหละ คือตัวทำให้มนุษย์บางคนมีแนวโน้มว่าในชีวิตนั้นชอบทำแต่อะไรที่เสี่ยงๆ
รายงานของนักวิจัย ที่ลงพิมพ์เผยแพร่วารสารประสาทวิทยาระบุว่า สมองของพวกบ้าระห่ำไม่กลัวตายนี้มีตัวรับสารต่อต้านสารเคมีโดปามีนอยู่น้อย ซึ่งก็หมายถึงว่าสมองของคนประเภทนี้มารเคมีโดปามีนหนาแน่นกว่านั่นเอง ซึ่งเป็นเหตุให้พวกเขาทำอะไรเสี่ยงๆ อยู่เรื่อยและพยายามทำอะไรแผลงๆใหม่ๆต่อไปเรื่อยๆ อย่างเช่น ขับรถยนต์เร็วเกินไป ดื่มสุรามากเกินไป ใช้เงินทองสุรุ่ยสุร่ายเกินไปและอาจเสพยาเสพย์ติดด้วยซ้ำไป
ผลของการวิจัยก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการทดลองกับหนูบ่งชี้ว่า หนูซึ่งมีแนวโน้มว่าจะออกสำรวจดู และทำอะไรแบบกล้าเสี่ยงมากขึ้น ในสภาพแวดล้อมใหม่นั้นมีแนวโน้มว่า มีตัวรับสารต่อต้านสารเคมีโดปามีนน้อย และอาจารย์ทางจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ เดวิด ซอลด์แห่งมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ต้องการหาข้อเท็จจริงว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับมนุษย์เราหรือไม่?
อาจารย์เดวิด ซอลด์กล่าวว่า ผลของการวิจัยออกมาตรงกับความคาดหมายคือ มนุษย์ที่ทำอะไรเสี่ยงๆ อย่างกระตือรือร้นโดยฉับพลัน มีตัวรับสารต่อต้าน และควบคุมสารเคมีโดปามีนน้อยกว่าคนที่ทำอะไรอย่างระมัดระวังมากกว่า
ข้อเท็จจริงที่ได้รับมา สนับสนุนทฤษฎีของอาจารย์เดวิด ซอลด์ที่ว่าคนที่ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ จะมีสารเคมีโดปามีนในสมองอย่างเนืองนอง ตอนที่ได้รับประสบการณ์ที่สร้างความอภิรมย์ให้ตนเอง และด้วยเหตุนี้ คนพวกนี้จึงกลับมาทำอะไรเสี่ยงๆ หรือมีความประพฤติเสี่ยงแบใหม่ๆ ต่อไปเพราะทำให้พวกเขารู้สึกเบิกบานใจ เหมือนอย่างพวกติดยาเสพย์ติดต้องการหาความสุขอย่างสุดๆ จากการเสพยาเสพย์ติด
ส่วนดอกเตอร์บรู๊ซ โคเฮน ผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยเฟรเซ่อร์ แห่งโรงพยาบาลแมกเคนที่นครบอสตัน และเป็นอาจารย์ด้านจิตแพทย์ศาสตร์ ด้วยมีความเห็นว่าการมีความเข้าใจในเรื่องความประพฤติที่ต้องการแสวงหาความอภิรมย์ให้ตนเองนี้ดีขึ้น อาจช่วยให้นักวิจัยพบวิธีบำบัดรักษาเรื่องนั้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เสียด้วยซ้ำไป
ส่วนอาจารย์เดวิค ซอลด์คิดว่าคนที่เห็นว่าความตื่นเต้น และความอภิรมย์เป็นของตอบแทนที่น่าชื่นใจมากกว่าก็เพราะคนๆ นั้นมีสารเคมีโดปามีนในสมองมากกว่านั่นเอง
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่นักวิจัยกำลังสำรวจหาลู่ทาง ได้แก่การพยายามหาวิธีบำบัดรักษาผู้ใช้สารเสพย์ติดในทางที่มิชอบที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น