ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานการสำรวจความโปร่งใส ด้านงบประมาณแห่งชาติ ในภาคเอเชียอาคเนย์


งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการจัดอันดับไม่ค่อยดีนัก ในการสำรวจเรื่องความความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณแห่งชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวล เรื่องปัญหาการคอร์รับชั่นในโครงการใช้จ่ายของรัฐบาลประเทศเหล่านั้น

รายงานบอกว่ารัฐบาลประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควรปรับปรุงเรื่องความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น

ในรายงานการจัดอันดับความโปร่งใส ของการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณของประเทศต่างๆ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบัน International Budget Partnership หรือ IBP ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่าประเทศส่วนใหญ่ ไม่มีความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณ และรายละเอียดการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล คุณ Malou Mangahas ผอ.ใหญ่ของศูนย์ Investigative Journalism ที่ฟิลิปปินส์ กล่าวว่าในหลายประเทศ สาธารณชนมักจะถูกปิดหูปิดตา จากข้อมูลด้านงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล

คุณ Mangahas บอกว่ารายงานของ IBP เปิดเผยเรื่องที่น่าเศร้าใจ คือราว 80% ของรัฐบาลประเทศต่างๆ 85 ประเทศทั่วโลก มีความไม่โปร่งใส เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำงบประมาณ ซึ่งหมายถึงการประพฤติผิด ละเมิดกฎหมายและการคอร์รับชั่นเงินหลวงทั้งระดับเล็ก ไปจนถึงระดับใหญ่ในหลายประเทศ

สถาบัน International Budget Partnership ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาในการวิเคราะห์ ตรวจสอบและวางแนวทางการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่างบประมาณต่างๆ จะสนองตอบต่อความต้องการของคนยากจน ตลอดจนการทำให้เกิดความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยในการจัดอันดับครั้งล่าสุด ประเทศที่มีความโปร่งใส ในการจัดทำงบประมาณอันดับต้นๆ คือ อังกฤษ อาฟริกาใต้ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และสหรัฐ ส่วนประเทศที่มีความโปร่งใสในอันดับต่ำๆ ได้แก่ อังโกล่า ซาอุดิอาระเบีย รวันดา ซูดานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เวียดนามและกัมพูชาถูกจัดอยู่ในอันดับต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

คุณ Kim Song Chea จากองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร Forum ในกัมพูชา บอกว่ารัฐบาลกัมพูชา แทบจะไม่เปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณ และกิจกรรมทางการเงินต่างๆ ของรัฐบาลต่อสาธารณในช่วงปีงบประมาณ และว่าเวลานี้กัมพูชากำลังเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่นการขาดแคลนเงินทุนเพื่อใช้ในการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล และขาดแคลนวิธีกดดัน ให้รัฐบาลออกกฎหมายให้เสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร คุณ Song Chea บอกว่าประเทศผู้บริจาคเงินช่วยเหลือซึ่งเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลกัมพูชา ควรกดดันกัมพูชาในเรื่องความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน ตามรายงานชิ้นนี้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทยล้านอยู่ในกลุ่มประเทศที่ขาดความโปร่งใส ด้านข้อมูลการจัดทำงบประมาณเช่นกัน จะมีเพียงแค่อินโดนีเซียเท่านั้น ที่แสดงความก้าวหน้าในเรื่องนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอินโดนีเซียถูกจัดอันดับอยู่ในช่วงครึ่งแรกของประเทศ ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณต่อสาธารณชนได้

รายงานของ IBP เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เร่งหามาตรการปรับปรุงความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของในการจัดทำงบประมาณ และยังขอร้องให้ประเทศผู้บริจาคเงินช่วยเหลือ ช่วยให้น้ำหนักกับการเปิดเผยข้อมูลด้านการเงิน ต่อสาธารณชนในประเทศผู้รับบริจาคมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ IBP ยังแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จัดให้มีข้อมูลด้านงบประมาณ ที่เหมาะสมทางอินเตอร์เนต และเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางวิทยุในประเทศที่ประชาชนมีอัตราความสามารถ ในการอ่านเขียนหนังสือต่ำด้วย


XS
SM
MD
LG