ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานศูนย์วิจัยระบาดวิทยา เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ ในปี 2551


รายงานชิ้นใหม่ของศูนย์วิจัยระบาดวิทยา จากภัยธรรมชาติพบว่า ในปีที่แล้วมีจำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเมื่อช่วง 7 ปีก่อน

ปี 2551 จึงเป็นปีที่มีคนเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ มากที่สุดครั้งหนึ่ง เท่าที่มีการจดบันทึก

รายงานนี้ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว เฉพาะพายุไซโคลน "นาร์กิส" ในพม่า และแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนในจีน ก็มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 2 แสน 5 หมื่นคน ขณะที่ภัยพิบัติอื่นๆ ทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นรวมกัน 319 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวมกันไม่ถึง 10,000 คน

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ เชื่อว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงอีกมาก ถ้าจีนสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างในจีน รับแผ่นดินไหวได้ดีกว่านี้ และมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพในพม่า

รายงาน ระบุด้วยว่า ภัยพิบัติธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน ส่งผลกระทบต่อประชากร 211 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 181,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่เอเชียยังคงเป็นภูมิภาค ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จากภัยธรรมชาติ อาศัยอยู่ใน 9 ประเทศจาก 10 ประเทศชั้นนำของเอเชีย

คุณเดบาราติ กิจา-ซาปีร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบาดวิทยาจากภัยพิบัติ กล่าวว่า มีหลายประเทศที่ได้ยินจนชินว่า เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง จนกลายเป็นเรื่องปกติ

เธอบอกว่า จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติเกือบทุกปี ในรายชื่อประเทศที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ มีประเทศใหม่ 2 ประเทศคือคูเวตและโคลอมเบีย ส่วนประเทศที่เห็นได้ชัดว่ารอดพ้นจากหายนะภัยธรรมชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือประเทศในยุโรป

ในรายงาน พบด้วยว่า ปีที่แล้วอุทกภัย และภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด คุณซาปีร์ กล่าวว่า ความแห้งแล้ง คือ ผลกระทบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และคาดว่าจะมีภัยแล้งเพิ่มขึ้นในอนาคต

คุณซาบีร์ ระบุว่า ในรายงานที่ผ่านมา ประเมินค่าความเสียหายจากภัยแล้ง เป็นศูนย์ ไม่มีอะไรที่น่าวิตกกังวล สิ่งนี้สะท้อนว่าชุมชนโลกได้ละเลยอย่างมาก ต่อการพิจารณาประเด็นความแห้งแล้ง โดยเฉพาะในแอฟริกา ซึ่งเกิดความแห้งแล้งเกือบร้อยละ 80 แต่กลับไม่มีรายงานความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

คุณซาปีร์ เตือนว่า ในไม่กี่ปีข้างหน้า ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องสูญเสียมหาศาลหากยังละเลยปัญหาภัยแล้ง เพราะถ้าปัญหานี้มีมากขึ้นและแอฟริกาขาดแคลนน้ำก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามมากขึ้น ชาวแอฟริกันจะพากันอพยพไปยังประเทศที่ร่ำรวยเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อนานเข้าหลายประเทศ ก็จะปิดรับผู้อพยพเหล่านี้ ทำให้คนจำนวนมากต้องสิ้นไร้ไม้ตอก กลายเป็นสิ่งบ่มเพาะปัญหา เช่น อาชญากรรม การก่อการร้าย และปัญหาใหญ่อื่นๆ ของสังคมโลกในอนาคต


XS
SM
MD
LG