ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้สถาบันการเงิน สนับสนุนกิจการด้านสาธารณสุขในประเทศยากจน ต่อไป


รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วโลก เรียกร้องให้ประเทศผู้บริจาค และสถาบันการเงิน สนับสนุนกิจการด้านสาธารณสุขในประเทศยากจนต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินอยู่ในขณะนี้

แม้มีข่าวที่น่ายินดีว่าธนาคารโลก ยืนยันจะคงความช่วยเหลือประเทศยากจน อีกทั้งมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่ประกาศว่า จะลดงบประมาณทางด้านสาธารณสุข แต่ขณะนี้ก็เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นว่า วิกฤติการเงินโลกอาจจะมาบั่นทอนคำสัญญาการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมองค์การอนามัยโลก ที่สำนักงานใหญ่ในนครเจนีวา ได้เรียกร้องประเทศที่มีงบประมาณสาธารณสุขอย่างจำกัด จะต้องจัดอันดับความสำคัญในการใช้งบประมาณนี้

คุณนิมาล ศรีปาลา รัฐมนตรีกระทรวงบริบาลสุขภาพ และโภชนาการของศรีลังกา เชื่อว่า ตอนนี้มีประเทศต่างๆ จำนวนมากที่จัดลำดับความสำคัญไม่ถูกต้อง

เขาบอกว่า ประเทศส่วนใหญ่กำลังลงทุนด้วยเงินมหาศาล สร้างโรงพยาบาล และการการเยียวยารักษาผู้เจ็บป่วย โดยละเลยงานด้านสุขภาพโดยเฉพาะการใส่ใจในประเด็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน ดังนั้นหากต้องการลดอัตราการเกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคหัวใจซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็จะต้องทุ่มเงินมากขึ้นในงานด้านดูแลป้องกัน

มีการคาดการณ์กันว่า ในปีนี้ภาวะการค้าของโลกจะถดถอยเป็นครั้งแรก ในรอบ 30 ปี การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศจะซบเซา และการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานที่ไปทำงานอยู่ต่างแดน จะลดลงตามไปด้วย สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ และการจัดเก็บภาษีในประเทศกำลังพัฒนา

นายแพทย์แอนดริว สเตียร์ แห่งกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของอังกฤษ บอกว่า รัฐบาลของประเทศผู้บริจาคจะต้องยึดมั่นในคำมั่นสัญญา ว่าจะเพิ่มหรือคงความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาให้แก่ประเทศเหล่านี้

ขณะที่ผู้แทนของธนาคารโลก เปิดเผยว่า ธนาคารโลกมีแผนเพิ่มสินเชื่อเพื่อการสาธารณสุขเป็นวงเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 2-3 ปีที่แล้ว โดยประเทศที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา ในทวีปแอฟริกาจะได้สินเชื่อประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ และเอเชียใต้ จะได้ 650 ล้านดอลลาร์

องค์การอนามัยโลกยังได้ระบุถึงการบรรลุเป้าหมาย “มิลเลนเนียม ดิเวลลอปเมนท์ โกล ปี 2015” ว่าขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กลดลง ในประเทศที่ยากจนมาก และประสบความสำเร็จในการป้องกันและรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรคและมาลาเรีย แต่ก็เตือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะทำให้ความสำเร็จที่กล่าวมานี้ เสี่ยงกับความล้มเหลว

XS
SM
MD
LG