ในแต่ละปี มีประชากรทั่วโลกถึง 50 ล้านคนติดเชื้อไข้เลือดออก และมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน โรคนี้ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในประเทศเขตร้อน ได้กลับมาระบาดในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ที่กรุงเทพฯ นักวิจัยของกองทัพบกสหรัฐฯ ใกล้ที่จะได้วัคซีนที่สามารถพิชิตโรคนี้
โรคไข้เลือดออกนั้นเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า โรคนี้คร่าชีวิตประชากรโลกปีละกว่า 20,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกเกือบทั้งหมด อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนเช่นในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา
นายแพทย์อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต หัวหน้ากลุ่มโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แสดงความหวังว่า ซักวันหนึ่งจะมีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคนี้เหมือนกับวัคซีนที่ใช้ยับยั้งโรคโปลิโอ
นายแพทย์อนุตรศักดิ์ บอกว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคท้องถิ่นในประเทศไทย มีลักษณะเป็นวัฏจักร เมื่อปีของการระบาดมาถึง จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 แสนคนต่อปี
ที่สหรัฐฯ นั้น หน่วยงานด้านการแพทย์ของกองทัพบก ได้ศึกษาวิจัยโรคไข้เลือดออกมานาน 100 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาจริงจังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง
พันโทสตีเฟน โทมัส หัวหน้าโครงการพัฒนาวัคซีนโรคไข้เลือดออกของกองทัพบกสหรัฐ เผยว่า โรคนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต่อประสิทธิภาพการรบของทหารอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดการศึกษาวิจัยและเริ่มมีความคิดที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกัน
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยการแพทย์ของกองทัพสหรัฐฯ ได้มาทำวิจัยในประเทศไทย โดยศึกษาตัวอย่างเลือดหลายพันตัวอย่าง เพื่อหาทางพิชิตโรคนี้ แต่ไม่ใช่งานที่ง่ายเลย
พันโทสตีเฟน บอกว่า มีการทดลองตัวอย่างวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกับผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน แต่วัคซีนดังกล่าวไม่ทำให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน จึงต้องทิ้งไป
ทางด้านสถาบันสุขภาพแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นศูนย์รักษาโรคไข้เลือดออกที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย ที่นี่ แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตยา ได้พัฒนาคู่มือการรักษา และวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การรับรอง จากการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับห้องทดลอง ของกองทัพบกสหรัฐฯ ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจโรคไข้เลือดออกมากขึ้น โดยสามารถวินิจฉัยยืนยันลำดับขั้นของโรค ซึ่งเป็นประโยชน์ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที แต่ในความเห็นของแพทย์หญิงสุจริตรา หากมีวัคซีนก็จะสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้มากกว่านี้
เธอบอกว่า โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในทุกๆ ที่ ไม่แต่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นปัญหาของโลก เธอคิดว่าจำเป็นต้องมีวัคซีน
ขณะนี้กองทัพบกสหรัฐ กำลังทดลองวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ในสหรัฐฯ และไทย แต่แม้มีวัคซีน ก็มีอีกหลายๆ คำถามที่ยังรอคำตอบ เช่น พฤติกรรมของไวรัสไข้เลือดออก และลักษณะการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ไปทั่วโลก ทำให้ยังต้องทำวิจัย และค้นคว้าเกี่ยวกับโรคนี้อีกมากทีเดียว