ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โครงการนำร่องระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในเอเชียใต้


โครงการนำร่องระหว่างประเทศโครงการใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตธัญพืช อาจช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บรรดาเกษตรกร 6 ล้านคนในเอเชียใต้ และยังสามารถช่วยต่อสู้กับปัญหาความยากจนในหนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในโลกได้อีกด้วย

โครงการมูลค่า 30 ล้านดอลล่าร์ที่นำโดยสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายเพือช่วยเหลือเกษตรกรในอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศและเนปาล ซึ่งผลิตพืชผลทางการเกษตรเลี้ยงประชากร รวมแล้วเกือบหนึ่งในสี่ของโลก โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าโครงการนำร่องระบบการเพาะปลูกธัญญาหาร สำหรับเอเชียใต้นี้ จะช่วยเพิ่มผลผลิตธัญพืชได้อย่างน้อย 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้หมายถึงรายได้ของเกษตรกรยากจนในเอเชียใต้ราว 6 ล้านคนจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละอย่างน้อย 350 ดอลล่าร์หรือประมาณ 12,000 บาทต่อปี

คุณอะคิม โดเบอร์มัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายการวิจัย ที่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศในฟิลิบปินส์กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลผลิตการเกษตรในแต่ละปียังคงอยู่ต่ำกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ก่อให้เกิดความกังวลเรื่องปัญหาการขาดแคลนอาหาร โครงการนี้ จะใช้กระบวนการที่คลอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ การใช้เมล็ดพันธ์พืชที่ดีขึ้น การปรับปรุงพัฒนาพันธ์พืชใหม่ๆ และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างบุคลากรทางการเกษตรรุ่นใหม่ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์การเกษตร ซึ่งหวังว่าวิธีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ในอนาคต

โครงการนี้มีขึ้นในขณะที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากวิกฤตการณ์ราคาธัญพืชแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะราคาข้าวที่เป็นสินค้าเกษตรสำคัญในภูมิภาคนี้ สูงขึ้นมากกว่าสองเท่าในบางพื้นที่ และแม้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาราคาข้าวจะลดลง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เตือนว่า จำนวนที่ดินที่ใช้ปลูกธัญพืชที่ลดลง สภาพอากาศที่ๆ ไม่เป็นใจและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านอาหารครั้งต่อๆ ไป

โครงการนำร่องระบบการเพาะปลูกธัญญาหารสำหรับเอเชียใต้ ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิบิลและเมลินด้า เกตส์ รวมทั้งจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐนะครับ โครงการนี้ยังมีเป้าหมายลดจำนวนคนหิวโหย และขาดสารอาหารในเอเชียใต้ซึ่งปัจจุบันมีคนยากจนที่สุดในโลก อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ประมาณ 40% เลยทีเดียว

XS
SM
MD
LG