ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักท่องเที่ยวนิยมดูหิ่งห้อย บริเวณลุ่มน้ำแม่กลองของประเทศไทย


ส่วนหนึ่งของธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่มีผู้นิยมมากขึ้น คือการไปดูหิ่งห้อย และที่หาดูได้ใกล้ๆ กรุงเทพมหานคร จะเป็นบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง

แต่เวลานี้ นักวิจัยชาวต่างประเทศที่ตื่นตาตื่นใจกับปรากฎการณ์ธรรมชาตินี้ กำลังมีความวิตกกังวลว่า จำนวนหิ่งห้อยเริ่มจะมีน้อยลง

อาจารย์ Sara M. Lewis ซึ่งสอนวิชาชีววิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Tufts ในนคร Boston รัฐ Massachusetts และศึกษาเรื่องการส่องแสงของหิ่งห้อยมาเป้นเวลานาน บอกว่า ภาพหอ่งห้อยที่ได้เห็นในลุ่มน้ำแม่กลองนั้น เป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดภาพหนึ่งที่ได้เคยเห็นมา

แต่ในช่วงไม่นานมานี้ จำนวนหิ่งห้อยที่ได้เห็นดูจะลดลง

อาจารย์ Christopher K. Cratsley ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหิ่งห้อยอยู่ที่วิทยาลัยของรัฐ Fitchburg ในรัฐ Massachusetts ยืนยันว่า เรื่องหิ่งห้อยมีจำนวนน้อยลงเป็นเรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และยังหาคำตอบไม่ได้ว่า หิ่งห้อยหายไปไหน และทำไมจึงหายไป

หิ่งห้อยตัวผู้ส่งแสงสว่างออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย และถ้าตัวเมียส่งแสงตอบรับ ก็จะผสมพันธุ์กัน แต่การพัฒนา ซึ่งขยายเขตนาครออกไป ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง ไม่ว่าจะเป็นแสงจากอาคารบ้านเรือน หรือยานพาหนะทั้งทางบกและทางน้ำ แม้กระทั่งแสงไฟฉายก็สามารถก่อกวนการส่งสัญญาณและการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยได้

นักวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการทดลอง โดยมีการควบคุมการใช้แสงสว่างในระดับต่างๆกับหิ่งห้อย และพบว่า เมื่อมีแสงสว่างมากขึ้นเพียงใด อัตราการขาดการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างน้อยเวลานี้ มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่องหิ่งห้อยเป็นพิเศษ ได้เริ่มทำแผนที่ติดตามดูจำนวนหิ่งห้อยขึ้นมา อาจารย์ Raphael De Cock ของมหาวิทยาลัย Antwerp ในประเทศเบลเยี่ยมเป็นหัวหน้ากลุ่มงานนี้ นักวิชาการผู้นี้บอกว่า งานเบื้องต้นที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ คือ พยายามหาข้อมูลให้ได้ก่อนว่า มีหิ่งห้อยกี่ชนิด มีอะไรบ้าง และจะจำแนกประเภทได้อย่างไร และแม้จะประมาณกันไว้ว่า มีหิ่งห้อยอยู่ 2,000 ชนิด ปรากฎว่าก็ยังค้นพบชนิดใหม่ๆกันได้อยู่เรื่อยๆ

XS
SM
MD
LG