ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ส่งผลกระทบต่อบริษัทธุรกิจ และนักลงทุนหรือไม่?


แม้ว่าข่าวเรื่องประเทศไทยจะไม่เป็นข่าวพาดหัวทั่วโลกอีกต่อไปแล้วในเวลานี้ แต่ความสนใจของสื่อต่างประเทศต่อประเทศไทยยังไม่ลดน้อยลง

บทความของสำนักข่าว Bloomberg ตั้งประเด็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมาหลายครั้งหลายหน มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่โดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไม่ส่งผลกระทบถึงบริษัทธุรกิจและนักลงทุน

แต่การประท้วงยึดท่าอากาศยานทั้งสองแห่งที่กรุงเทพมหานครเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ เปลี่ยนแปลงการมองการณ์ในเรื่องนี้ได้อย่างรวดเร็ว

นาย Christopher Bruton ผู้อำนวยการคนหนึ่งของบริษัท Dataconsult จำกัด ซึ่งทำงานวิจัยการตลาดให้กับบริษัทธุรกิจที่แสวงหาโอกาสการลงทุนในเอเชียอาคเนย์ ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวของ Bloomberg ว่า

“ผู้ประท้วงอาจยึดครองสำนักนายกรัฐมนตรีนานถึงห้าปี ก็จะไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก แต่ไปตั้งเต้นท์นอนที่ท่าอากาศยาน จะเป็นที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว”

ก่อนที่การประท้วงจะยุติลงในวันที่ 3 ธันวาคม สายการบินต้องระงับเที่ยวบิน และโรงแรมไม่มีคนเข้าพัก การส่งสินค้าประสบภาวะชงักงัน และค่าเงินบาทลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ในช่วง 21 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ ทำให้นักลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจในประเทศที่มีนายกรัฐมนตรี 27 คน ในช่วง 76 ปีที่ผ่านมา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง กล่าวว่า การสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่มีการยึดท่าอากาศยาน อาจสูงถึง หนึ่งแสนล้านบาท หรือ 2.8 พันล้านดอลล่าร์ต่อวัน

ส่วนนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมว่า เศรษฐกิจไทย ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่สองของเอเชียอาคเนย์ อาจจะไม่เติบโตขยายตัวได้ในปีหน้า เนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการยึดครองท่าอากาศยานต่อธุรกิจการท่องเที่ยว

ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยลดลง 2 % ในช่วงเวลาที่ท่าอากาศยานถูกปิด แต่ถ้าจะดูตัวเลขตลอดช่วงที่มีการประท้วง ซึ่งเป็นเวลาทั้งหมด 192 วันแล้ว ดัชนีราคาหุ้นลดลง 55% และค่าเงินบาท ในช่วงการปิดท่าอากาศยานลดลง 1% และเกือบ 11% ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา

Kristina Kazmi นักวิเคราะห์เอเชีย เขียนไว้ในรายงานฉบับวันที่ 2 ธันวาคมให้กับบริษัทวิจัย IHS Global Insight ในอเมริกาว่า ถ้ารัฐสภาไทย เลือกนายกรัฐมนตรีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่เห็นชอบด้วย วัฏจักรของการประท้วงและการประจันหน้ากันอย่างหาทางออกไม่ได้ ก็จะเริ่มต้นขึ้นอีก

บทความของ Bloomberg ให้ความเห็นว่า ถ้ามีการประท้วงในลักษณะนี้ขึ้นอีก อาจผลักดันให้การลงทุนโยกย้ายไปตามประเทศอื่นๆในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมทั้งเวียตนาม อินโดนีเซีย และมาเลย์เซียได้ เพราะการขาดการรักษากฎหมาย กระตุ้นหนุนให้เกิดแก๊งค์อันธพาลตามท้องถนนได้

ส่วนนักธุรกิจ Nandor von der Luehe ประธานสภาหอการค้าต่างประเทศร่วม กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องนี้ส่งท้ายว่า

“แม้กระทั่งนักลงทุนที่รู้จักคุ้นเคยกับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ก็ยังหวั่นใจว่า สถานการณ์อาจบานปลายออกไปจนควบคุมไม่ได้”

XS
SM
MD
LG