ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากปัญหาทางการเมืองของไทย


ประเทศไทยประสบปัญหาทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 Bob Mckee นักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันปรึกษาการลงทุน Independent Strategy ในกรุงลอนดอน มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในด้านต่างๆ มาเสนอ

คุณ Bob McKee บอกว่า ปัจจุบันอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการรกะทรวงการคลังของไทย คาดการณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 1%

จากเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญไทย สั่งยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คาดว่าไทยจะมีรัฐบบาลชุดใหม่ในช่วงสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก กว่าที่รัฐบาลชุดใหม่จะสามารถหาสูตรที่ลงตัว ในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศได้ ในขณะเดียวกัน นโยบายที่ชะงักงันส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งมีเป้าหมายควบคุมอัตราเงินเฟ้อและลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยอยู่ที่ระดับ 2.75% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าในช่วงกลางปีหน้า อัตราดอกเบี้ยน่าจะลดลงไปถึงระดับอย่างน้อย 1% หรืออาจต่ำกว่านั้น

สาเหตุที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำขนาดนั้น เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นคือ ฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซียที่มีความเปราะบางด้านการส่งออกมากกว่าไทย ปัจจุบันดุลการค้าต่างประเทศของไทยกำลังขาดดุลอย่างมาก เมื่อเดือนตุลาคมปริมาณการส่งออกลดลงเกือบ 5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านดอลล่าร์ และเงินบาทมีค่าต่ำสุดในรอบ 2 ปีเทียบกับเงินดอลล่าร์

คุณ Bob McKee คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน น่าจะชะลอตัวต่ำกว่าช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตโรคซาร์สเมื่อปี 2002 และเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2004 โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ อาจสร้างความเสียหายในระยะยาวให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศราว 6.5% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ นอกจากนี้ การที่ราคาข้าวซึ่งเป็นสินค้าออกหลักของไทยตกลงไปมากในช่วงนี้ ยิ่งตอกย้ำวิกฤตเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น

ขณะนี้พิษเศรษฐกิจกำลังสงผลต่อกำไรของภาคธุรกิจ ซึ่งตกลงไปถึง 14% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นทิ้ง เฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเทขายหุ้นรวมมูลค่ามากกว่า 300 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ลดระดับความสามารถในการชำระหนี้ของไทย จากระดับคงที่เป็นติดลบ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มีผลมาจากปัญหาทางการเมืองไทย ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก น้อยกว่าประเทศอื่นๆในเอเชีย เมื่อช่วงต้นปีคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวเพียง 2% เทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ที่คาดว่าจะชะลอตัวลง 6% ในขณะที่ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินเดียและจีน คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว 4% นอกจากนี้ ภาคการเงินการธนาคารของไทย ก็ดูเหมือนจะรับมือกับวิกฤตการเงินโลกได้ดีกว่าชาติอื่นๆ ในเอเชีย เนื่องจากสัดส่วนสินทรัพย์ต่อทุนของธนาคารในประเทศไทย อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าหลายประเทศ รวมทั้งสัดส่วนหนี้ต่อหัวของประชากรก็ต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวันและเกาหลีใต้ ด้วยเหตุผลข้อนี้ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ยังคงดีอยู่แม้จะเกิดวิกฤตทางการเมืองก็ตาม

คุณ Bob McKee แนะนำว่าสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ จำเป็นต้องทำคือมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อสร้างความต้องการในประเทศ รวมทั้งมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บัญชีงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลไทยขาดดุลอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย จึงควรจำกัดงบประมาณการใช้จ่ายไม่ให้เกิน 2% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ถึงกระนั้นก็ดี ทั้งมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐหรือมาตรการลดภาษี ก็ดูเหมือนจะไม่สามารถชดเชยความต้องการของต่างประเทศที่ลดลงได้ จึงคาดว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าก็คือค่าเงินบาทจะตกลงไปอีก

XS
SM
MD
LG