ปกติคงไม่มีใครชอบให้อัตราภาษีแพงขึ้นอยู่แล้ว แต่ที่รัฐ อลาสก้าในสหรัฐ การขึ้นภาษีที่เรียกเก็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงสองครั้งสองครา กลับส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง
อาจารย์ Alex Wagenaar ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาแห่ง University of Florida กล่าวไว้ว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ไม่ว่าจะเป็นปริมาณหรือเวลาในการดื่ม
อาจารย์ Wagenaar ต้องการศึกษาในเรื่องดังกล่าว จึงรวบรวมสถิติการขึ้นภาษีสุราที่รัฐอลาสก้า 2 ครั้ง ในปี 1983 และปี 2002 ว่าส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตของประชาชนในรัฐอลาสก้าอย่างไร โดยอาจารย์ Wagenaar และเพื่อนร่วมงานศึกษาตัวเลขการเสียชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา เช่น โรคมะเร็งตับและโรคตับแข็ง ในช่วงก่อนและหลังการขึ้นภาษีสุราครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
อาจารย์ Alex Wagenaar บอกว่าผลการวิจัยสร้างความประหลาดใจพอสมควร เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากโรคเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังการขึ้นภาษีสุราแต่ละครั้งในรัฐอลาสก้า ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผู้นี้อธิบายว่า ในการขึ้นภาษีสุราครั้งแรกเมื่อปี 1983 จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงทันที 29% และลดลงต่อเนื่องไปอีก 20 ปี และในการขึ้นภาษีสุราครั้งที่ 2 จำนวนผู้เสียชีวิตก็ลดลงอีก 11%
อาจารย์ Wagenaar บอกว่าจากตัวเลขสถิติดังกล่าว ค่อนข้างแน่ชัดว่าราคาเหล้าที่แพงขึ้น ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวกับสุรา อาจารย์จากUniversity of Florida ผู้นี้ยังบอกด้วยว่างานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่านโยบายด้านการคลังดังกล่าวของรัฐบาล ส่งผลด้านบวกต่อสุขภาพของประชาชนนะครับ แม้จะมีผู้คนจำนวนมากหงุดหงิดใจกับนโยบายขึ้นภาษีสุรานี้ก็ตาม