ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ถ้อยแถลงของ ปธน.บุช เกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ


ประธานาธิบดีจอร์จ บุช กล่าวว่า การที่รัฐบาลกลางสหรัฐเข้าไปโอบอุ้ม “ซิตีกรุ้ป” สถาบันการเงินรายใหญ่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามช่วยเหลือภาคธุรกิจการเงินของสหรัฐ ที่มีปัญหา ขณะที่โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า มองเห็นสัญญาณความมีเสถียรภาพเริ่มกลับสู่ระบบธนาคารของสหรัฐบ้างแล้ว

ประธานาธิบดีบุช แถลงว่า สหรัฐจะฟื้นตัวจากช่วงเวลาที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจ และขั้นแรกของการฟื้นตัวก็คือการปกป้องระบบการเงิน เช่น ซิตีกรุ้ป ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในด้านการธนาคารและสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค

บุช บอกว่า เคยตัดสินใจทำนองเดียวกันนี้มาแล้วในอดีต และจะตัดสินใจเช่นนี้อีกในอนาคตเพื่อคุ้มครองระบบการเงิน

คำแถลงของเขามีขึ้นหลังจากร่วมประชุมกับนายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง บุชบอกว่าได้นำเรื่องการตัดสินใจช่วยเหลือซิตีกรุ้ปเข้าหารือกับ สว.บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว

ทั้งนี้ซิตีกรุ้ปเป็นสถาบันการเงินล่าสุด ที่ได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินจากรัฐบาลกลางสหรัฐ สถาบันการเงินแห่งนี้ รัฐบาลกลางสหรัฐเข้าไปลงทุนโดยตรง 20,000 ล้านดอลลาร์และเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สินให้อีกนับแสนล้าน รัฐบาลกลางจะนำเงินช่วยเหลือ มาจากแผนช่วยเหลือภาคการเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐสภาอนุมัติเมื่อเดือนก่อน

ทางด้าน สว.บารัค โอบามา เปิดแถลงข่าวเสนอคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง คือ นายทิม เกทเนอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐเขตนิวยอร์ค สว.โอบามาให้คำมั่นว่า การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลของเขา จะยังคงเคารพและให้เกียรติต่อพันธกิจแผนกอบกู้เศรษฐกิจที่ทำไว้ในรัฐบาลประธานาธิบดีบุช และจะขยายความช่วยเหลือของรัฐบาลให้ครอบคลุมชาวอเมริกัน ที่ได้รับผลพวงจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน นายโทนีย์ แฟรตโต้ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานาธิบดีบุชจะยังคงดำเนินการด้วยความกระตือรือร้น เพื่อหยุดยั้งวิกฤติการเงินในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่กี่สัปดาห์ในการเป็นรัฐบาล

คุณโทนีย์ บอกว่า รัฐบาลไม่รอให้สถาบันการเงินต้องล้มลง สิ่งที่จะทำคือป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเพี่อจะได้จำกัดขอบเขตความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และเพื่อจะทำให้สถาบันเหล่านั้นสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้

โฆษกทำเนียบขาว กล่าวด้วยว่า ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่ดำเนินมาได้ระยะหนึ่งเริ่มเห็นผลแล้ว ธนาคารจำนวนมาก มีตัวเลขแสดงบัญชีงบดุลที่ดีขึ้น และอยู่ในสถานะที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบ ยังมีสิ่งท้าทายอีกมากมายรออยู่เบื้องหน้า

XS
SM
MD
LG