ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โครงการนำขยะอิเล็คโทรนิคกลับมาใช้ใหม่ของสหรัฐ


ในสหรัฐ ขยะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน คือขยะอิเลคทรอนิคส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่เสียแล้ว

แต่เนื่องจากส่วนประกอบของขยะอิเลคทรอนิคส์มักจะมีพิษเป็นอันตรายผสมอยู่ ชุมชนต่างๆ จึงพยายามใช้วิธีการนำขยะเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ให้เป็นประโยชน์

สำหรับคนบางคนนั้น การโยนจอคอมพิวเตอร์ราคาแพงที่เสียแล้วลงในถังขยะ อาจจะทำให้รู้สึกไม่ดีซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่จะรู้สึกไม่ดีเพราะ จอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆมีโลหะต่างๆ เป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็นตะกั่ว แคดเมียมหรือเบริลเลียม ซึ่งเป็นพิษต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

คุณ Dan Matsh ผจก.ศูนย์ Hard to Recycle Materials ในเมือง Boulder ให้บริการรีไซเคิลขยะอิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรสาร หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ และยังพยายามป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ส่งขยะอิเลคทรอนิคส์เหล่านั้นไปรีไซเคิลในต่างประเทศ ที่ซึ่งคุณ Matsh บอกว่ามักจะใช้กระบวนการรีไซเคิลที่ไม่ปลอดภัย

คุณ Matsh บอกว่าการเผาพลาสติกหุ้มสายไฟจากอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ เพื่อนำทองแดงกลับไปใช้ใหม่นั้น จะก่อให้เกิดสารพิษไดออกซิน ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง อีกทั้งจอคอมพิวเตอร์หรือจอทีวีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว ก็อาจทำลายสมองของคนที่รับสารพิษนั้นเข้าไปได้ คุณ Jim Puckett ผู้ก่อตั้งองค์กรตรวจสอบอิสระ Basel Action Network บอกว่าปัจจุบัน ขยะอิเลคทรอนิคส์ในอเมริการาว 60% จะถูกส่งไปยังฮ่องกง ก่อนที่จะถูกลักลอบนำเข้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นที่หมู่บ้านเกวยูในประเทศจีน ที่ใช้กระบวนการรีไซเคิลซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดสารตะกั่วปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กๆ ในหมู่บ้านนั้น

มีบริษัทหลายแห่งในอเมริกา รวมทั้งที่นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ที่หลอกลูกค้าว่าจะนำขยะอิเลคทรอนิคส์ไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน แต่แท้จริงแล้วกลับส่งขยะเหล่านั้นไปยังประเทศจีน ซึ่งหลังจากที่การกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมา คุณ Michelle Weingarten ผอ.ฝ่ายความยั่งยืนของเทศบาลนครเดนเวอร์จึงประกาศว่า จะร่วมทำงานกับบริษัทรีไซเคิลที่ร่วมลงนามในข้อตกลงพิเศษกับกลุ่ม Basel Action Network เท่านั้น โดยบริษัทที่เข้าร่วมต้องสัญญาว่า จะไม่ส่งขยะอิเลคทรอนิคส์ไปยังประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ

บริษัท Guaranteed Recycling Xperts เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ร่วมลงนามในข้อตกลง Basel Action นะครับ คุณ John Miller รองประธานบริษัท Guaranteed Recycling บอกว่าทางบริษัทจะส่งสายไฟไปให้แก่บริษัทผลิตโลหะ ซึ่งจะใช้วิธีเผาพลาสติกหุ้มสายไฟเหล่านั้นในเตาเผา หรือตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยซึ่งไม่ก่อให้เกิดสารพิษ แผงวงจรไฟฟ้าจะส่งไปรีไซเคิลที่โรงงานในเบลเยียม และจอภาพ จะถูกนำไปแยกสารตะกั่วออกก่อนที่จะส่งแก้วไปหลอม และนำสารตะกั่วไปใช้ผลิต แบตเตอรี่รถยนต์ต่อไป

คุณมิลเลอร์บอกด้วยว่าแม้วิธีการนี้จะไม่มีผลกำไร แต่ก็เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำ

โครงการนำขยะอิเลคทรอนิคส์กลับมาใช้ใหม่ที่เมือง Boulder และที่ชุมชนอื่นๆทั่วอเมริกา คือความพยายามในส่วนท้องถิ่นที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่ม Basel Action Network บอกว่ารัฐบาลสหรัฐควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน กลุ่ม Basel Action Network ประกาศโครงการ E-Steward Certification เพื่อตรวจสอบ และรับรองบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลขยะอิเลคทรอนิคส์ ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่ม Basel Action Network จะยังคงผลักดันให้มีกฎหมายห้ามส่งออกขยะอิเลคทรอนิคส์ต่อไป สำหรับท่านผู้ฟังท่านใดที่สนใจกิจกรรมต่างๆของกลุ่ม Basel Action Network สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ban.org

XS
SM
MD
LG