จากผลการศึกษาใหม่นั้นเห็นได้ว่า คนที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งได้รับยาลดคลอเรสเตอรอล สามารถลดความเสี่ยงต่ออาการหัวใจกำเริบ และเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองแตกได้อย่างมาก
โครงการวิจัย “จูปิเตอร์” ซึ่งใช้ประชากรกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป และหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 18,000 คน และทั้งหมดมีระดับคลอเรสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีระดับของโปรตีนซี-รีแอคทีฟเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้การสะสมของไขมันในเส้นเลือด พบว่าเมื่อให้ประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวนครึ่งหนึ่งได้รับยา “โรซูวาสเตติน” ซึ่งเป็นยาลดคลอเลสเตอรอล และอีกครึ่งหนึ่งให้ได้รับยาหลอก จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยาสเตติน
นายแพทย์พอล ริดเคอร์ หัวหน้าคณะวิจัยของบริกแก็ม แอนด์ วีเมน ฮอสปิตอลในนครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซทท์ กล่าวว่า สิ่งที่พบโดยพื้นฐานคือยาชนิดนี้สามารถลดการเกิดอาการหัวใจกำเริบได้เกือบ 50 % และลดการเกิดเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองแตกได้ 48 % นอกจากนี้ยังสามารถลดการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ หรือลดการผ่าตัดขยายหลอดเลือดในเปอร์เซนต์ที่เท่ากัน และช่วยลดการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุได้ร้อยละ 20 อีกด้วย ผลที่ได้ทั้งหมดนี้สูงกว่าที่คาดไว้
คุณหมอพอลรายงานผลการศึกษาครั้งนี้ ต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมหัวใจอเมริกันในนครนิว ออร์ลีนส์ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิตกว่า ผลการศึกษาอาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาสเตตินขึ้นได้
คุณซิด สมิธ อดีตประธานสมาคมหัวใจอเมริกัน และเป็นอาจารย์ด้านหัวใจวิทยาที่มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา เตือนว่า อาจมีผู้นำการศึกษาชิ้นนี้มาขึ้นพาดหัวว่าผลการศึกษาชิ้นใหม่แนะให้ทุกคนใช้ยาสเตติน แต่ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวไม่ได้กล่าวเช่นนั้น เขากล่าวว่าแม้ผลการศึกษาจะน่าประทับใจ แต่จำเป็นที่จะต้องมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ยาดังกล่าว พร้อมกับชี้แนวทางแก่ประชาชน ให้สามารถดำเนินชีวิตโดยปลอดจากโรคหัวใจและเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองแตก
อย่างไรก็ตาม คุณหมอพอล ริดเคอร์ มีความคิดที่จะขยายการใช้ยาสเตติน ไปยังกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่าง เพื่อป้องกันการเป็นโรคหัวใจในอนาคต