ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สถานการณ์ล่าสุดของนาย Phoenix ที่ขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร


ขณะนี้ เป็นเวลานานกว่า 130 วันแล้วที่ยานสำรวจดาวอังคาร Phoenix ไปลงในบริเวณใกล้ขั้วเหนือของดาวเคราะห์ดวงนี้ ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ยาน Phoenix จะทำงานอยู่ได้นานราว 90 วันของดาวอังคารแล้วหยุดทำงานไป แต่ปรากฏว่าอีกหลายสัปดาห์หลังจากนั้น ยาน Phoenix ยังคงทำงานสำรวจอากาศ น้ำแข็ง และดินของดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่และยังส่งข้อมูลกลับมา และเมื่อเร็วๆ นี้ ยาน Phoenix ก็ตรวจพบว่ามีหิมะตกจากกลุ่มเมฆขณะที่ฤดูหนาวในบริเวณนั้นกำลังใกล้เข้ามา

หลังจากการเดินทางเป็นเวลา 10 เดือน ระยะทาง 679 ล้านกิโลเมตร ยานสำรวจดาวอังคาร Phoenix ขององค์การอวกาศสหรัฐ หรือ NASA ไปลงในบริเวณที่ราบใกล้ขั้วเหนือของดาวอังคารเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยมีช่วงเวลาทำงานสามเดือน แต่ตอนนี้ยาน Phoenix ยังทำงานอยู่ เมื่อไม่นานมานี้ ยาน Phoenix ก็ถ่ายภาพกลุ่มเมฆ และตรวจพบว่ามีหิมะตกจากกลุ่มเมฆนั้น ซึ่งยากที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่หิมะนั้นระเหยหายไปก่อนตกถึงพื้น การตรวจพบนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์แปลกใจ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่คาดกันมาก่อน

ยาน Phoenix ทำงานขุดดิน และส่งข้อมูลและภาพถ่ายดี ๆ มากมายเกี่ยวกับบริเวณโดยรอบที่ยานไปลง พื้้นผิว สภาพใต้พื้้นผิว ตลอดจนภาพรายละเอียดของส่วนประกอบแร่ธาตุต่างๆ และบรรยากาศของดาวอังคาร และการวิเคราะห์ตัวอย่างๆ กลับมาให้นักวิทยาศาสตร์บนโลก

Peter Smith นักวิทยาศาสตร์ใหญ่ประจำโครงการ กล่าวว่า ในช่วงสองเดือนแรกที่ยานสำรวจไปอยู่บนพื้นผิวดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์ก็บอกได้ว่า แขนกลของยานสามารถคราดไถขุดดินลงไปได้ลึกไม่กี่นิ้ว และก็พบชั้นน้ำแข็ง ซึ่งถือว่าบรรลุผลตามเป้าหมาย

Doug McCuistion ผู้อำนวยการโครงการสำรวจดาวอังคารของ NASA กล่าวว่า ยาน Phoenix ทำงานดีมาก ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับน้ำและการหมุนเวียนแปรเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้

เขากล่าวว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายที่ยาน Phoenix รวบรวมส่งกลับมานั้น มากพอที่นักวิทยาศาสตร์จะศึกษาวิจัยไปได้อีกนานหลายปี

ขณะที่ยังพอมีเวลาก่อนจะถึงฤดูหนาวของดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการสำรวจดาวอังคารของ NASA ตัดสินใจขยายเวลาการทำงานของยาน Phoenix ออกไปเท่าที่จะทำได้เพื่อศึกษาความเป็นไปของสภาพภูมิอากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้

คณะนักวิทยาศาสตร์ คาดว่า ยาน Phoenix คงจะหยุดทำงานทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

XS
SM
MD
LG