ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รับประทานเค็มให้น้อยลง ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ


The World Heart Federation รายงานว่าโรคหัวใจและอาการเส้นโลหิตในสมองแตกเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ถึงปีละ 17.5 ล้านคน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงหลายล้านคนถ้าหากหันมาทานเกลือให้น้อยลง

ผู้ที่ชอบทานอาหารรสเค็ม อาจจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้เพราะล่าสุด นักวิจัยของ The World Heart Federation ระบุว่า หากประชากรโลกลดการทานเกลือ ให้เหลือวันละไม่เกินครึ่งช้อนโต๊ะ ก็จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและเส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองแตกได้หลายล้านคนเลยทีเดียว

เรื่องนี้ นายแพทย์ชาร์ยา ชี้ค ประธาน The World Heart Federation กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจจะลดลงกว่า 15 % และจำนวนผู้เสียชีวิตจากเส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองแตกจะลดลง 20 กว่าเปอร์เซนต์ เพียงแค่ลดการใส่เกลือลงไปในอาหาร

คุณหมอชี้ค บอกว่า ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดในเวลานี้ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและเส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองแตก หากเราเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในการทานอาหาร เช่น ลดการทานเกลือ ก็จะมีผลต่อระดับความดันโลหิต ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพตามมา

The World Heart Federation ระบุว่า ประชากรโลกกว่าพันล้านคนในปัจจุบันเป็นความดันโลหิตสูง และคาดว่าในอีก 17 ปีข้างหน้าจะมีผู้ที่เจ็บป่วยจากความดันโลหิตสูง เพิ่มเป็นกว่า 1,500 ล้านคน

คุณหมอชี้ค บอกด้วยว่า โรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจมีความสัมพันธ์กับวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งการกิน การดื่ม และการออกกำลังกาย ล้วนมีผลต่อน้ำหนักตัว, ระดับคลอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือดทั้งสิ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตกำลังลดลงในประเทศตะวันตกที่มีฐานะร่ำรวย แต่กลับเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จากโรคเหล่านี้อยู่ในประเทศแถบเอเชียและตะวันออกกลาง

นายแพทย์ชี้ค ระบุว่า ประเทศที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา เป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในเวลานี้ ที่โรคหัวใจไม่ใช่สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 แต่ถึงไม่ใช่ก็กำลังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และความดันโลหิตสูงจะกลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในประเทศเหล่านี้

ขณะนี้สาเหตุหลักที่ทำให้คนวัยหนุ่มสาวในทวีปแอฟริกาเสียชีวิตก็คือโรคติดเชื้อและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่คุณหมอชี้คคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อประชาชนในแอฟริกามีชีวิตยืนยาวขึ้นและเลียนแบบวิถีชีวิตแบบตะวันตกมากขึ้น

XS
SM
MD
LG