ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ราคาอาหารโลกเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่วิกฤติด้านอาหารยังคงอยู่


รายงานล่าสุดของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบพิเศษด้านสิทธิในอาหารของ องค์การสหประชาชาติระบุว่า ปัจจุบันราคาอาหารโลกเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่วิกฤตการณ์ด้านอาหารยังคงมีอยู่ต่อไป และอาจจะยิ่งเลวร้ายลงเนื่องจาก การนำอาหารมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องวิกฤติการณ์อาหารโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาราคาอาหารแพงเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ทั่วโลก โดยเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบพิเศษขององค์การสหประชาชาติในเรื่องนี้ระบุว่า เวลานี้ราคาอาหารในตลาดโลกเริ่มลดลงมาแล้วจากระดับสูงสุดเมื่อช่วงต้นปี แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์อาหาร และคาดว่าจะอยู่ใน ระดับราคาสูงประมาณนี้ไปอีกหลายปี

คุณ Olivier De Schutter ผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชาติกล่าวว่า ก่อนจะเกิดวิกฤต มีผู้อดอยากหิวโหยทั่วโลกราว 854 ล้านคน แต่ภายหลังวิกฤติด้านอาหาร ประมาณว่ามีคนหิวโหยเพิ่มขึ้นราว 50 ล้านคน ในขณะที่จำนวนคน ยากจนที่สุดเพิ่มขึ้นราว 100 ล้านคน คุณ De Schutter บอกว่าคนยากจนเหล่านั้น หิวโหยและขาดอาหารที่พอเพียงเพราะราคาอาหารแพงขึ้นมาก ซึ่งรัฐบาล แต่ละประเทศควรยื่นมือช่วยเหลือพวกเขาให้มีสิทธิได้รับอาหารอย่างเหมาะสม เช่น ปกป้องไม่ให้พวกเขาถูกไล่ออกจากที่ดินที่ใช้ทำการเกษตร หรือให้ชายและหญิง มีสิทธิในการมีที่ดินหรือทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรอื่นๆอย่างเท่าเทียม

รายงานของสหประชาชาติยังบอกอีกว่า จำเป็นต้องมีการทบทวนประเด็น เรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งหมดใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การปลูกพืชหลายชนิดที่นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงนั้นใช้ที่ดินมากเกินไป รวมทั้งยัง ใช้น้ำและพลังงานมาก ดังนั้นในระยะยาวจึงไม่เหมาะที่จะใช้เป็นพลังงานทางเลือก แทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล คุณ De Schutter ยังบอกอีกว่า นอกจากการผลิตเชื้อ เพลิงจากน้ำตาลอ้อยที่ประสบผลสำเร็จในหลายประเทศ เช่น บราซิลแล้ว ปัจจุบัน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งผลิตจากพืชต่างๆ นั้น ไม่ได้ให้ผลบวกเสียทีเดียว

ผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชาติผู้นี้บอกว่า ประโยชน์ของเชื้อเพลิง ชีวภาพที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประเมินกันเกินความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐที่มีการผลิตเชื้อเพลิงจากข้าวโพด ซึ่งตัวเขาเองเชื่อว่าเชื้อเพลิงดังกล่าว มีอันตรายมากกว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อมนะครับ อย่างไรก็ตาม คุณ De Schutter บอกว่าไม่ได้ต้องการให้ทุกฝ่ายยุติการพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ต้องการ ให้มีการควบคุมดูแลโดยรัฐบาลแต่ละประเทศให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน จนท. องค์การสหประชาชาติผู้นี้เตือนว่า ปัญหาเรื่องการจัดสรรที่ดินที่เหมาะสมในการ ปลูกพืชที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงจะยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งในที่สุดผลร้ายจะตกอยู่กับบรรดา ประชาชนที่ยากจนที่สุดในโลก

ก่อนหน้านี้ รายงานอีกฉบับหนึ่งของธนาคารโลกระบุไว้ว่า ประมาณ15-43% ของราคาอาหารโลกที่แพงขึ้นในปัจจุบันนั้น เป็นผลมาจากหลายประเทศเร่ง ปลูกพืชที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพกันมากขึ้น

XS
SM
MD
LG