ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อ ตปท.ให้ความสนใจข่าวการปะทะกัน ระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่ กทม.


สื่อต่างประเทศและองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ให้ความสนใจอย่างมากกับข่าวการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลกับฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลในกรุงเทพฯ เมื่อเช้าวันอังคาร

รายงานและบทวิเคราะห์ของสื่อในต่างประเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีประเด็นสำคัญอย่างไร หรือไม่

รองศาสตราจารย์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกรงว่า ถ้ามองสถานการณ์ในแง่ร้ายที่สุด ความไม่สงบอาจจะกระจายไปทั่วประเทศ และมีการเสียเลือดเนื้อกันได้

ในวันอังคาร Amnesty International องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีถ้อยแถลงออกมาที่กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรจำกัดเสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็น ตามที่ประกาศไว้ในพระราชกำหนดฉุกเฉิน

Amnesty International อ้างกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุว่า แม้จะตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ประชาชนก็ยังมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงตน รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล หรือกลุ่มคนที่ตนไม่เห็นด้วย

องค์กร Amnesty Internationalให้ความเห็นไว้ด้วยว่า การประท้วงและการตอบโต้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนเป็นจำนวนมากไม่พอใจกับการไม่เคารพกฎหมาย และการไม่ยอมรับผิดชอบ และว่าในที่สุดแล้ว สิ่งที่จำเป็นจะต้องมี คือความรับผิดชอบมากขึ้น การเคารพกฎหมาย และความเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

รายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ๆในอเมริกา ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิตและที่ได้รับบาดเจ็บ

แต่หนังสือพิมพ์ New York Times ได้สัมภาษณ์นักวิชาการอเมริกันบางราย รวมทั้งศาสตราจารย์ Charles Keyes ของมหาวิทยาลัย Washington ที่นคร Seattle ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศไทยคนหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทย นักวิชาการผู้นี้ให้ความเห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางกับกลุ่มธุรกิจและการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากคนยากจนทั้งในชนบทและในเมือง ทำให้การแก้ปัญหาด้วยการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย เป็นทางเลือกที่ชนชั้นกลางรับไม่ได้ เพราะฝ่ายตรงข้ามซึ่งมีคะแนนเสียงมากกว่า จะเป็นฝ่ายชนะตลอดกาล

ในอีกด้านหนึ่ง หลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์มีคำเตือนประชาชนของตนในเรื่องการเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบการท่องเที่ยวได้ สายการบินไทยอินเตอร์แนชชั่นแน่ล แอร์เวย์ส กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่วันมานี้ การจองตั๋วลดลงมากกว่า 10%

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์การเงินรายงานว่า ในขณะที่ดัชนีราคาหุ้นของตลาดหุ้นอื่นๆในเอเชียสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันอ่อนตัวลง ดัชนีหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง 2.3% นับตั้งแต่เริ่มมีการประท้วงในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ดัชนีราคาหุ้นไทยลดลงมาแล้วราวๆ 24%

และในวันเดียวกันนี้ Standard and Poor’s สำนักจัดอันดับความเป็นที่น่าเชื่อถือทางการเงินกล่าวว่า ความไม่สงบในประเทศไทย อาจทำให้การลงทุนจากต่างประเทศไม่เคลื่อนไหวก้าวหน้า และความรุนแรงต่อไปอาจทำให้ต้องลดอันดับประเทศไทยจากการมีเสถียรภาพไปเป็นลบได้

แนวโน้มเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีข่าวออกมาในวันอังคารเดียวกันนี้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นออกมาแล้วว่า พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล มีความผิดฐานซื้อเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว และได้ส่งเรื่องให้อัยการดำเนินต่อไปแล้วด้วย

XS
SM
MD
LG